จากภาพรวมเศรษฐกิจตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 ยังไม่สามารถกลับสู่เส้นทางการเติบโตได้อย่างมั่นคง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญส่วนใหญ่ชะลอตัวลงโดยพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออกของไทยที่เผชิญกับปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอความร้อนแรงลง ปัญหาขาดแคลนอุปทานในสินค้าเกษตรบางรายการ
ตลอดจนปัญหาด้านความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีส่วนกดดันการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ การใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนตกอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง จากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม กอปรกับการเร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเมื่อผนวกกับประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ก็คงมีผลให้การประคับประคองแรงส่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2556 ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทั้งปี 2556 ลงมาที่ระดับร้อยละ 10.0 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 11 เนื่องจากความต้องการเบิกใช้สินเชื่อภาคธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 อาจชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยและ การส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ภายหลังการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2556 ในวันที่ 27 พ.ย. 56 เสร็จสิ้นลงแล้ว (คาดว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อเนื่อง เพื่อรอดูสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป) คงได้แก่ จังหวะและสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เนื่องจากการเปลี่ยนท่าทีเชิงนโยบายการเงินดังกล่าวของเฟดจะมีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันผูกโยงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน ตลอดจนอาจมีผลต่อทางอ้อมต่อภาพรวมสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในระยะถัดไปได้