(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย ต.ค.56 ส่งออกหด 0.67%,นำเข้าหด 5.37% ขาดดุล 1,170 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ต.ค.56 ลดลง 0.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่มูลค่า 19,393 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าลดลง 5.37% ที่มูลค่า 21,164 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน ต.ค.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 1,770 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.56) ลดลง 0.02% ที่มูลค่า 191,533 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า เพิ่มขึ้น 1.40% ที่มูลค่า 210,978 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 97,444 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ตลาดหลักยังทรงตัว โดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรปขยายตัว 6.5 % และ 7% ตามลำดับ เป็นผลจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมกระเตื้องขึ้น และการเริ่มฟื้นตัวจากภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป ส่วนตลาดญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องติดกันเป็นเดือนที่ 6 (-12.1%) จากความต้องการนำเข้าลดลง ปัญหาการอ่อนลงของค่าเงินเยนเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และการส่งออกที่ชะลอตัวลง

ตลาดศักยภาพสูง ยังคงขยายตัว โดยจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา (+14.5%) จากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้น การผลิตและการบริโภคสูงขึ้น และมีการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 (+2.5%) ส่วน อินเดีย ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ลดลง 21.4% 14.5% และ 3.2% ตามลำดับ

ตลาดศักยภาพระดับรอง ภาพรวมลดลง 5.5% โดยทวีปออสเตรเลีย(-7.9 %) จากการส่งออกที่ลดลงของรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ทวีปแอฟริกา(-19%) จากผลพวงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในแอฟริกา เช่น อียิปต์ ไนจีเรีย ลิเบีย และความตึงเครียดในซูดาน ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกายังเติบโตได้ดี โดยขยายตัว 0.8% และ 4.1%

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกจะเติบโตได้ราว 1% หากการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.) สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ ขณะที่การส่งออกในปี 57 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ