(เพิ่มเติม1) กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มองศก.มีความเสี่ยง-ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แถลงว่า การประชุม กนง.วันที่ 27 พ.ย.มีมติจึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 2.25% จากเดิมที่ 2.50% พร้อมกับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ปีนี้เหลือเติบโตเพียง 3% จากเดิม 3.7% คาดว่าปีหน้าจะเติบโต 4% ต้นๆ โดยมองว่าเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความเสี่ยง หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาส 3/56 ขยายตัวต่ำกว่าคาด และในเดือน ต.ค.ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม และมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน ภายใต้แรงกดดันด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้างแล้ว นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับกรรมการ 1 เสียงที่เห็นสมควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินปัจจุบันยังผ่อนปรนเหมาะสมอยู่

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม มีความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐฯ ทำให้ภาวะตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวน สำหรับเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีในทุกภาคเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคโดยรวมยังคงขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกของประเทศในกลุ่มเอเชียเหนือฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศหลักและจีนเร็วกว่ากลุ่มอาเซียนโดยรวม

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/56 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ด้านการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อาจเปราะบางยิ่งขึ้นจากความไม่สงบทางการเมือง และการส่งออกที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลายปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง ประกอบกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นนอนสูง ตัวเลขที่ปรากฎ ทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และความเห็นของผู้ประกอบการสะท้อนให้เห็นมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าผลลัพธ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และยังไม่รู้ผลกระทบจากการเมืองผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะผลกระทบการเมืองได้แทรกในดัชนีชี้วัดและไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน มีผลต่อความเชื่อมั่นอย่างไร เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน แต่ในการปรับลด GDP ครั้งนี้ไม่ได้รวมผลกระทบจากการเมืองเข้าไปพิจารณาด้วย

"ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเบ้ลง จึงทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังคงมีอยู่อีกระยะหนึ่ง ที่สุดแล้วข้อมูลและตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาใหม่ รวมถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลจริง....กนง.ยืนยันพิจารณาทุกปัจจัย ทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีผลต่อการส่งออกและนำเข้า แต่เรื่องการเมืองจะบานปลายและรุนแรงแค่ไหนคงต้องติดตาม เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง" นายไพบูลย์ กล่าว

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 0% ซึ่งการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ยในตลาดทำได้หลายช่องทาง โดยดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อตลาดเงินทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงความต้องการสินเชื่อของลูกค้าและสภาพคล่องในตลาด ซึ่งจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยตามภาวะตลาด

ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายกังวลว่าการลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อหนี้สินภาคครัวเรือนนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นช่วงที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงค่อนข้างมาก และ กนง.ประเมินแล้วว่าหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอลงในทิศทางที่เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ลดความร้อนแรงลง แต่ กนง. ยังติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป

"กนง. ได้ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเห็นว่ามีมากกว่าความเสี่ยงด้านราคาและความเสี่ยงด้านการเงิน"

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 3% เป็นข้อเท็จจริงที่สุด ตามแนวโน้มข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 57 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ไปที่ 4 %ต้นๆ จากเดิมที่คาดไว้ 4.8% โดยมีแรงส่งจากการส่งออกที่น่าจะกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การลงทุนภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการประเมิน GDP ปีหน้าได้ลดทอนการลงทุนภาครัฐที่จะล่าช้าออกไป

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีการปิดสถานที่ราชการนั้น คงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบทำให้เกิดความเสียหายเท่าไหร่ และไม่สามารถบอกได้ว่าดอกเบี้ยในอนาคตจะอยู่ในทิศทางขาลงต่อไปหรือไม่ เพราะยังไม่ทราบเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ