ขณะที่ในเดือน พ.ย.คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะลดลง 7% และเดือน ธ.ค.ลดลง 5%
เนื่องจากในปี 55 มีฐานที่สูง รวมถึงการหดตัวของบางอุตสาหกรรม อย่าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองในขณะนี้ เพราะคำสั่งซื้อมีเข้ามาล่วงหน้า 3 เดือนอยู่แล้ว
"ปีที่แล้วฐานสูง และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3 เดือน ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง การเมืองไม่น่ากระทบกับการผลิตเมื่อเทียบกับภาคท่องเที่ยว" นายสมชาย หาญหิรัฐ ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าว
ส่วนปี 57 เบื้องต้น สศอ.ประเมินว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ประมาณ 2.86% ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 2% บนสมมติฐานว่าค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31.24 บาท/ดอลลาร์, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่น่าจะยกเลิก QE แต่อาจจะลดขนาดลง และราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 106.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
"มองว่าปี 57 การผลิตจะกลับมาเป็นบวกแน่ๆ จากส่งออกที่น่าจะโตกว่าปีนี้มาก, หลายสถาบันคาดการณ์ GDP ที่ระดับ 4-5% ซึ่งดีกว่าปีนี้ที่ GDP จะอยู่ที่ระดับ 3% และการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นไปตามแผน"นายสมชาย กล่าว
ทั้งนี้ มองว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 57 การผลิตจะมีการขยายตัว โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.56% ส่วนปี 56 อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 55 เนื่องจากปริมาณการส่งออกขยายตัว ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของปี 56 ชะลอตัวลงเป็นผลจากผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ทยอยส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าตามนโยบายรถยนต์คันแรกไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แนวโน้มปี 57 ในภาพรวมคาดว่า การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3% เมื่อเทียบกับปี 56 ที่ภาวะการผลิตภาพรวมปรับตัวลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง 2.6% โดยลดลงทั้งกลุ่ม IC และ HDD จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค ลดลงอย่างมาก โดยผู้บริโภคหันมาใช้ Smart Phone และ Tablet แทน
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร แนวโน้มปี 57 คาดว่า ภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณ 1-2% และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับ 0-2.5% จากปี 56 ที่การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปี 55 ประมาณ 0.4% ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลง 6.2% เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 และลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกอาหารได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น