"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2557 น่าจะยังเป็นอีกปีที่ตลาดรถยนต์ต้องเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2556 โดยคาดว่าจะมียอดขายรถยนต์ประมาณ 1.10-1.17 ล้านคัน หรือหดตัวกว่าร้อยละ 10 ถึง 15 จากปี 2556 ที่คาดว่าจะมียอดขายราว 1.3 ล้านคัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยในช่วงต้นปี ยอดขายรถยนต์น่าจะยังหดตัวมากจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปี 56 และการที่ความต้องการซื้อรถถูกโครงการรถคันแรกดึงไปใช้แล้วล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดรถยนต์จะเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ และเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของปี การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC ในปี 58 คาดจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นตลาด โดยเฉพาะในส่วนของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จากการที่ภาคเอกชนอาจเริ่มมีการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจเพื่อรับมือการการเปิดเสรี ซึ่งคาดว่าการคมนาคมขนส่งสินค้าและบุคคลทางบกจะเพิ่มมากขึ้น
ส่วนแรงส่งสำคัญอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า คาดว่าจะมาจากการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดของค่ายรถต่างๆ และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ดังเช่นในปีนี้ และหากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนสามารถดำเนินได้ต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้มีการลงทุนในส่วนของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น
"ตลาดรถยนต์รวมในประเทศปีนี้และปี 57 อาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถยนต์คันแรกที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ผ่านมาได้จบลง ขณะเดียวกันกำลังซื้อของผู้บริโภคเองก็ลดลง จากทั้งภาระหนี้สินและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ที่ลดลง ทำให้มีโอกาสหดตัวต่อเนื่อง ส่วนปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น หากดำเนินไปไม่ยืดเยื้อ คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยลบอื่นๆ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC ในปี 58 คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ได้ในช่วงท้ายปี 57 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 58 ซึ่งจะทำให้ยอดขายรถยนต์กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง
โดยปีนี้ค่ายรถนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ ตลอดจนการให้โปรโมชั่นส่วนลดและของแถมที่จูงใจต่างๆ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของตลาดรถยนต์ช่วงท้ายปีนี้ หลังการส่งมอบรถยนต์คันแรกจะใกล้เสร็จสิ้น และภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรอาจดีขึ้นไม่มากนัก ภาระหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังสูง และปัญหาการเมืองที่หากยืดเยื้ออาจกระทบการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.56 หดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ดึงความต้องการซื้อล่วงหน้าในอนาคตมาใช้ และฐานที่สูงมากในปีที่แล้ว ส่งผลให้จนถึงเดือน ต.ค.56 ตลาดรถยนต์โดยรวมหดตัวไปประมาณร้อยละ 1.8 รวมเป็นยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งสิ้น 1,121,355 คัน
"ทิศทางการหดตัวคาดว่าจะยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปเช่นนี้จนถึงสิ้นปี โดยปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบนอกเหนือจากการที่รถยนต์คันแรกได้ส่งมอบให้กับผู้จองจนเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว จากการใช้จ่ายในประเทศที่ถูกปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นกดดัน ขณะที่การส่งออกก็ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก จากทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังเพิ่งเริ่มฟื้นตัวและสินค้าส่งออกหลายรายการยังมีข้อจำกัดในการเติบโต ทำให้ภาคการผลิตไม่ขยายตัวขึ้นตามส่งผลกดดันต่อรายได้ของผู้บริโภคอีกทาง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีปัจจัยลบเข้ามาตลอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศของปีนี้คงต้องเผชิญกับภาวะหดตัวอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยคาดว่าอาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ราว 1.3 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนที่สามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ถึงมากกว่า 1.43 ล้านคัน(ขยายตัวร้อยละ 80.4) โดยคาดว่ารถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะหดตัวสูงกว่าในอัตรากว่าร้อยละ 10 ส่งผลให้สัดส่วนยอดขายรถยนต์พาณิชย์ลดลงจากร้อยละ 52 ของทั้งตลาดรวม เหลือร้อยละ 50 เท่ากันกับสัดส่วนของรถยนต์นั่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ยอดขายในปีนี้จะหดตัวลงจากปีก่อนพอสมควร แต่ตัวเลขคาดการณ์ราว 1.3 ล้านคันถือเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองไว้ในช่วงกลางปีที่ประมาณ 1.22-1.29 ล้านคัน เนื่องมาจากปัจจัยบวกที่เข้ามากระตุ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันของค่ายรถและสถาบันการเงินต่างๆ เช่น การนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดหลายรุ่น รวมถึงการระดมจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการที่ค่ายรถต่างนำเสนอโปรโมชั่นส่วนลดและของแถมซึ่งคิดแล้วเทียบเคียงกับเงินคืนภาษีที่จะได้รับจากโครงการรถคันแรก ทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถมองว่าได้ประโยชน์มากกว่าเนื่องจากสามารถขายต่อรถยนต์ได้ทันที ไม่ต้องรอถึง 5 ปี เหมือนกับรถในโครงการรถคันแรกที่มีข้อกำหนดห้ามเปลี่ยนมือจนกว่าจะถือครองครบ 5 ปี อีกทั้งยังมีรุ่นของรถให้เลือกได้หลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับโครงการรถคันแรกที่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดเครื่องยนต์และราคารถ ซึ่งเป็นผลให้ผู้จองรถในโครงการรถคันแรกบางส่วนยกเลิกสิทธิ์การจองรถในโครงการรถคันแรกไป
การจัดงาน Motor Expo 2013 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.ถึง 10 ธ.ค.56 น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นตลาดรถยนต์ในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน ซึ่งผู้จัดได้ตั้งเป้าหมายยอดจองปีนี้อยู่ที่ระดับ 50,000 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ 85,904 คัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมกระจายตัวอยู่หลายจุดอาจกระทบต่อการเดินทางของผู้ที่คาดว่าจะเข้าชมงานบ้าง โดยระดับผลกระทบต่อยอดจองที่เกิดขึ้นในงานขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าวจะยืดเยื้อนานแค่ไหน แต่ยอดจองอาจไม่สะท้อนออกมากระทบกับยอดขายรถยนต์รวมปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องจากค่ายรถต่างๆ มาก่อนหน้า ทำให้เกิดมุมมองว่าการจองซื้อรถยนต์ในงาน และการซื้อรถยนต์จากโชว์รูมหรือจากการจัดแสดงรถยนต์ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆนั้นได้ส่วนลดและโปรโมชั่นไม่ต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเลือกที่จะจองซื้อรถยนต์ที่โชว์รูมหรือห้างสรรพสินค้าที่สะดวกโดยตรง
ส่วนทิศทางในปี 57 คาดว่าจะเป็นอีกปีที่ตลาดรถยนต์ในประเทศจะยังคงต้องเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องจากปี 56 โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกนั้นยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกที่หมดลงแล้ว ยังมีปัจจัยลบอื่นๆ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่อาจดีขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญยังมีปริมาณสูง, ภาระหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปี 2556 ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ส่งผลให้รถยนต์ซึ่งจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอาจได้รับผลกระทบ และปัญหาการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบ