ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อจังหวะการกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีข้างหน้า เพราะต้องยอมรับว่าการลากยาวของตัวแปรความเสี่ยงทางการเมือง จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ซึ่งประเมินไว้ขณะนี้ว่าอาจขยายตัวในกรอบร้อยละ 4-5
"คงต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อจังหวะการกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ดี ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ทยอยมีภาพที่ดีขึ้น น่าจะช่วยหนุนการกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกไทย แต่จังหวะการขยายตัวที่มั่นคงมากขึ้นอาจเกิดขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ดังนั้นแม้จะคาดว่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 อาจสามารถพลิกกลับมาขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1.5 แต่ภาพรวมของอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2556 น่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น
ส่วนสถานการณ์อุปสงค์ในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนอาจอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก แม้จะเข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองปลายปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ครอบคลุมช่วงเวลาส่วนใหญ่ของไตรมาสที่ 4/2556 เป็นปัจจัยกดดันที่เพิ่มเติมเข้ามา นอกเหนือไปจากความกังวลต่อภาระหนี้, ค่าครองชีพ และแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม
"การบริโภคและการลงทุนโดยรวม(องค์ประกอบของจีดีพี) จะหดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ซึ่งก็เท่ากับว่าแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่สามารถฟื้นกลับมามีบทบาทช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยได้ในปีนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ