ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 57 ที่น่าจะทยอยกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ อาจหนุนให้กลไกการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังราคาสินค้าผู้บริโภคมีภาพที่ชัดมากขึ้นกว่าปีนี้ ย่อมจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในปี 57 มีแนวโน้มทรงตัว-ขยับขึ้นกว่าในปี 56 ที่การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อไว้ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2-2.6) ขยับขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2556 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.8 (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4-2.2) เทียบกับที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ในปี 56
ปัจจัยที่อาจมีผลหนุนเงินเฟ้อในปีหน้า ประกอบด้วย 1. ทิศทางราคาพลังงานในประเทศที่อาจขยับขึ้น ตามแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของภาครัฐ โดยเฉพาะราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง (ที่มีแผนขยับขึ้นเป็น 24.82 บาท/กิโลกรัม) ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการขยับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในปีหน้า จากปัจจุบันที่ตรึงราคาในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และ 10.50 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
2. ทิศทางค่าเงินบาทปี 27 ที่อาจมีระดับเฉลี่ยอ่อนค่ากว่าปี 56 โดยเงินบาทที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า จะส่งผลหนุนให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอุปโภค/บริโภค ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผ่านมาที่แรงกดดันเงินเฟ้อในภาพรวม
3. ฐานเปรียบเทียบปี 56 ซึ่งจะค่อนข้างต่ำ อันเนื่องมาจากกระบวนการส่งผ่านแรงกดดันต้นทุนจากฝั่งผู้ประกอบการมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค เป็นไปอย่างช้าๆ เกือบตลอดปี 2556 ซึ่งทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในปี 57 อาจขยับสูงขึ้น หากราคาสินค้าอุปโภค/บริโภคในช่วงปีข้างหน้าทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามแรงผลักฝั่งต้นทุน รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ