ดังนั้น ป.ป.ช. จึงลงมติให้ขยายการไต่สวนไปยังบุคคล อีก 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คือผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว นายอัครพงษ์ ทีปวัชระเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ
กลุ่ม 2 คือนายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว กลุ่มที่ 3 Guangdong stationery & sporting goods imp.&exp. Corp และ Hainan grain & oil industrialtrading company และตัวแทนของหน่วยงานทั้งสอง กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้แทนฝ่ายจีน ได้แก่ นายรัฐนิธโสจิระกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด
กลุ่มที่ 5 คือบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องพบว่าเงินที่ชำระค่าซื้อขายข้าวกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ประกอบกับบริษัทนี้เคยเป็นนายจ้างในอดีตของนายสมคิดเอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ
นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่าการซื้อขายแบบจีทูจีเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ทำให้เกิดความเสียหายจากการขายที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตั้งแต่เดือน ส.ค.54 - มิ.ย.56 พบปริมาณส่งมอบข้าวไปยังจีนเพียง 375, 000 จากปริมาณตามสัญญา 480,000 โดยอนุกรรมการจะเร่งไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาโดยเร็วต่อไป
นายวิชา ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาได้ ทั้งที่กระบวนการแล้วเสร็จเกือบหมดแล้ว มาจากการที่ ผอ.คนหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลคลังสินค้าไม่ยอมมอบเอกสารสำคัญ ซึ่งเป็นใบส่งสินค้าให้กับ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.กลัวว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่ลุกเป็นไฟในขณะนี้เอกสารดังกล่าวอาจจะถูกเผาไปได้ ดังนั้น ป.ป.ช.จะใช้กฎหมายของ ป.ป.ช.ดำเนินการนำเอกสารนี้มาให้ได้ และจะให้ผู้ถูกกล่าวหามาเป็นพยานของ ป.ป.ช.โดยที่พยานไม่ถูกดำเนินคดีได้
อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับโควตาสลากกินแบ่งของรัฐบาลด้วย ส่วนจะเชื่อมโยงคดีนี้ไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ ส.ว.ได้เคยมายื่นคำร้องเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว โดยได้ขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนประเด็นการระบายข้าว แต่สำนวนนี้ ป.ป.ช.ได้แยกพิจารณา เพราะต้องการที่จะให้คดีที่ร้องนายบุญทรง แล้วเสร็จโดยเร็วก่อน