ธปท.เตรียมขยายเวลาขอไลเซ่นส์ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ไปต้นปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 4, 2013 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอาจทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถออกประกาศให้ผู้ประกอบการมายื่นขอใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)เพื่อประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ได้ทันในปลายปีนี้ เนื่องจากจนถึงขณะนี้หลักเกณฑ์และคุณสมบัติต่างๆ ยังเป็นกรอบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดเชิงลึก ทำให้ขั้นตอนการเปิดลงทะเบียนขอไลเซ่นส์อาจล่าช้าออกไปจากที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ภายในเดือน ม.ค.57 ซึ่ง ธปท.ก็เห็นด้วยในหลักการกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ขณะนี้ก็คงยังไม่ใช่วาระเร่งด่วนมากนัก

?ส่วนการที่กระทรวงการคลังต้องการให้ธปท.แก้กฎหมายขยายเพดานดอกเบี้ยได้สูงกว่า 15% รวมค่าธรรมเนียมต้องไม่เกิน 36% นั้น ธปท.ไม่ขัดข้อง เพราะเข้าใจดีว่าผู้กู้มีระดับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ต้นทุนการดำเนินงานก็ควรผันแปรตามความเสี่ยง ซึ่งกรอบเบื้องต้นมีเป้าหมายปล่อยกู้เฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท จะให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคไม่ได้ หากตรวจพบว่าฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที แต่ในทางปฏิบัติจริงยอมรับว่าตรวจสอบการยาก ไม่คิดว่าจะควบคุมได้ อีกทั้งการเก็บดอกเบี้ยสูงอาจเป็นดาบสองคม ทำให้ประชาชนคืนเงินกู้ไม่ไหวมากขึ้นเท่านั้น และต้องเป็นการปล่อยกู้ระยะสั้น ไม่ใช่เรื้อรังเพราะแทนที่จะเป็นการให้ทุนกลับให้โทษ"นายอานุภาพ กล่าว

ปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการปล่อยกู้นอกระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้ทางการจะเปิดกว้างแบบไม่จำกัดจำนวนขอไลเซ่นส์ ส่วนจะสามารถดึงเข้ามาอยู่ในระบบได้มากน้อยแค่ไหน คงประเมินได้ยาก เพราะต้องยอมรับความจริงว่าเดิมผู้ประกอบการเหล่านั้นทำธุรกิจปล่อยกู้อยู่แล้ว และคิดดอกเบี้ยสูงมาก บางรายสูงถึง 60-100% ของวงเงินกู้ ดังนั้นผู้ประกอบการอาจไม่สนใจเท่าที่ควร เพราะเมื่อต้องขึ้นมาอยู่ในระบบต้องถูกตรวจสอบจากธปท.มากขึ้น ต้องเสียภาษีธุรกิจ แต่จะสามารถทำธุรกิจนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องถูกตำรวจกวาดล้าง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายทาง

สำหรับการบันทึกสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) คงไม่ได้อยู่ในระบบของ ธปท. เพราะไม่ได้เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่อาจต้องพิจารณาอีกครั้งว่าเก็บข้อมูลไว้ส่วนใด และต้องกันสำรองหนี้เสียเท่าไหร่ เพราะเงินที่ใช้ปล่อยกู้เป็นเงินทุนส่วนตัวและรับความเสี่ยงเอง ไม่สามารถรับฝากเงินได้

อย่างไรก็ตาม หากภายหลังกระทรวงการคลังออกประกาศแล้ว ธปท.ก็จะออกประกาศ ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์ย่อยให้บริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) เป็นสถาบันการเงิน และแก้ไขป.ว.58 เพื่อกำหนดให้ บย.คิดดอกเบี้ยได้สูงกว่า 15% รวมค่าธรรมเนียมต้องไม่เกิน 36% และออกวิธีการยื่นขอใบอนุญาตตามคุณสมบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ