โดยในส่วนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทั้งการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) การเปิดประมูลเป็นการทั่วไป และการเปิดประมูลผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(เอเฟท) นั้น หากเป็นการขายก่อนหน้าการยุบสภาและทำสัญญาไปแล้วก็ยังต้องมีการส่งมอบ และรับมอบข้าวตามสัญญา ส่วนการจะขายครั้งใหม่และตนเองต้องเป็นผู้ลงนามอนุมัติการขายนั้นจำเป็นต้องสอบถามที่ปรึกษากฎหมายก่อนว่าดำเนินการได้หรือไม่
"การขายข้าวสต๊อกรัฐบาลในสมัยผมโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ผมมามือเปล่า กลับมือเปล่า ส่วนงานที่อยากฝากรัฐบาลใหม่คือ การดูแลราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับเหมาะสม และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ และการดูแลค่าครองชีพ" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
สำหรับการประชุม กขช.ครั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการขายข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำ ข้าวปี 56/57 ผ่านเอเฟท จากเดิมที่อนุมัติระบายเฉพาะข้าวสารจากโครงการับจำนำปี 55/56 ปริมาณ 5 แสน-1 ล้านตัน ส่วนปัญหาการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรล่าช้านั้น เพราะติดขัดในขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการเตรียมพร้อมโรงสีเพื่อเปิดจุดรับจำนำ ยืนยันว่างบประมาณรับจำนำข้าวรอบแรกที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไว้ 270,000 ล้านบาท ยังเป็นไปตามกรอบเดิม ส่วนโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 (รอบ 2 หรือข้าวนาปรัง) ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติก่อน
ส่วนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 56/57 กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เร็วๆ นี้ พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือนั้นคงต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะ ครม.รักษาการไม่สามารถอนุมัติงบประมาณใดๆ ได้อีกแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์จะหารือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่ารัฐบาลรักษาการจะสามารถอนุมัติเงินช่วยเหลือได้หรือไม่
ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้า ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน แต่เพราะต้องการรักษาวินัยทางการเงินการคลังไม่ให้เกินกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 270,000 ล้านบาท ประกอบกับสำนักงบประมาณถูกกลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดไว้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ ได้กำหนดกรอบให้ ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 2 สัปดาห์นี้หรือก่อนปีใหม่ โดยให้เร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำก่อน หรือในจังหวัดที่มีเกษตรกรจำนวนมาก และเดือดร้อน เช่น เชียงราย พะเยา พิษณุโลก อยุธยา อ่างทอง แธเชิงเทรา อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าเกษตรกรไม่พอใจรัฐบาลที่จ่ายเงินช้าและจะปิดถนนประท้วงนั้น จากการสอบถามผู้นำเกษตรกร พบว่า เกษตรกรไม่ได้ต้องการทำเช่นนั้น และไม่ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ที่อาจจะต้องทำเพราะต้องการให้รัฐบาลทราบว่าเดือดร้อนมาก หากรัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้ก็จะไม่ปิดถนนประท้วงแน่นอน