ทั้งนี้บริษัทเอกชนต่างๆ สามารถคิดคำนวณการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามอัตราภาษีใหม่ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 19 พ.ย.56 อีกทั้งขณะนี้กรมสรรพากรได้จัดทำระบบการคำนวณการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราใหม่ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี การคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราใหม่ที่ลดลงนี้ จะส่งผลให้กรมสรรพากรต้องใช้เม็ดเงินสำหรับการจ่ายคืนภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 26,000-27,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 57 ในทางกลับกันจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคมากขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
อนึ่ง สำหรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่นี้ คำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา มาเป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุดร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 35 ทำให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีลดลงร้อยละ 5-50 โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้น้อย มีภาระภาษีลดลงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน จะไม่ต้องเสียภาษี
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57(ต.ค.-พ.ย.) เริ่มชะลอตัวลงจากผลของการชะลอการบริโภคในภาคประชาชน ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทั้งปียังคงเป้าหมายจัดเก็บภาษีไว้ในกรอบ 1.89 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภาฯ มีผลทำให้กฎหมายภาษีของกรมสรรพากรต้องตกไปกว่า 10 ฉบับ เช่น ภาษีเงินได้ของคณะบุคคล, ภาษีปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น