นอกจากนี้ มีแผนจะนำสินค้าถั่วเหลืองและเอทานอลเข้ามาซื้อขายในตลาด AFET ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาสที่ 3 ตามลำดับ
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 56 AFET มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากอดีตที่ปริมาณการซื้อขายไม่มีความสำคัญก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการนำสินค้าข้าวเข้ามาระบายผ่านตลาด AFET ทำให้การดำเนินธุรกิจของ AFET กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหากภาครัฐให้ความสำคัญเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจะทำให้การค้าสินค้าเกษตรมีความคล่องตัวและลดความเสี่ยงลงไปได้ จะเกิดราคาอ้างอิง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ AFET จะกลับเข้ามีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน ตามปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก AFET จะเป็นทางเลี่ยงหนึ่งที่นักลงทุนยังเข้ามาลงทุนได้
นายศักดิ์ดา กล่าวถึงการระบายข้าวของภาครัฐ ซึ่งในปี 56 ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้งและครั้งที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ อีกประมาณแสนกว่าตัน
"2 ครั้งที่ผ่านมาครั้งละ 1 แสนตัน ครั้งแรกเดือน ต.ค.56 ระบายได้เพียง 10% ครั้งที่ 2 เดือน พ.ย.56 สามารถระบายข้าวได้ 60% รวมทั้ง 2 ครั้งระบายข้าวได้ประมาณ 9 หมื่นกว่าตันแล้ว เชื่อว่าถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ กลไกของตลาดจะกลับมาทำงาน ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงสินค้าข้าวได้ง่ายขึ้น เพราะข้าวที่ประมูลใน AFET เป็นข้าวกองเล็ก แตกต่างจากการประมูลของภาครัฐที่ข้าวมักจะเป็นการประมูลยกคลังทำให้มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วม ซึ่งคาดว่าการะบายข้าวจะทำได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยจะเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ เกิดสุญญากาศทางการเมือง" นายศักดิ์ดา กล่าว
การระบายเป็นข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายว่า หากต้องการเห็นการะบายข้าวที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ก็ต้องใช้กลไกของตลาด AFET เพราะไม่สามารถบิดเบือนราคาได้ และสามารถเข้ามาซื้อขายได้ทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ มองว่าปีหน้า ตลาดสินค้าเกษตรจะเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะยางพาราตามเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อโดยเฉพาะประเทศจีน แต่เชื่อว่าราคาน่าจะอยู่ระหว่าง 80-100 บาทต้นๆ/กก. ขึ้นอยู่กับปัจจัยกระทบหรือสนับสนุนในแต่ละช่วง แต่คงเป็นไปได้ยากที่ราคาจะกลับมายืนที่ 120 บาท/กก.อีก