ตอนหนึ่งในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน และขอให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลง 10 บาท/ลิตร และก๊าซโซฮอลล์ลง 5 บาท/ลิตร, ขอให้รัฐบาลหยุดการขึ้นราคาและน้ำมัน ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.ที่ให้อ้างอิงราคาก๊าซและน้ำมัน แต่ให้มีกรรมการจาก 3 ฝ่าย ตั้งราคาเหมือนค่าโดยสารรถยนต์
นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลหยุดเลือกปฏิบัติ โดยให้ภาคปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นอีก 12 บาท/กิโลกรัม ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีสัดส่วนของภาคประชาชนกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยในทุกด้านให้เป็นธรรม, ขอให้แก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สัดส่วนสัมปทาน ฯลฯ
ขณะที่ตัวแทนสภาปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะรายงานความคืบหน้าในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานเป็นประธาน โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ในรายละเอียดการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะมีการนำเสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียมภายใน ม.ค.57 และออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสัมปทานฯ ได้ในเดือน มิ.ย.57
สำหรับแปลงสัมปทานรอบที่ 21 จะมีทั้งหมด 27 แปลง แบ่งเป็น แปลงในทะเลที่บริเวณอ่าวไทย 5 แปลง และแปลงบนบกอีก 22 แปลง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แปลง ซึ่งได้กำหนดปริมาณงานและเงินลงทุนขั้นต่ำ ดังนี้ ภาคเหนือและภาคกลาง และอ่าวไทย ปริมาณงานต้องเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม วางเงินประกันลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม เงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัมปทานครั้งนี้ยังคงค่า k(การคงสภาพทางธรณีวิทยา) และ srb (เงินผลประโยชน์ลดหย่อนพิเศษ)ในสัดส่วนที่เท่าเดิม แต่ให้ผู้ขอสัมปทานจะต้องเสนอโบนัสลงนาม(Signing Bonus) แปลงละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และโบนัสการผลิต (Production Bonus) ซึ่งคิดจากปริมาณการผลิตสะสม
ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนจะมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดที่กำหนดจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่มีทั้งหมดประมาณ 32 จังหวัด โดยจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดเพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายหน่วยงานราชการจังหวัดละ 100 คน รวมไปถึงผู้นำและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งคาดว่าส่วนนี้จะใช้เวลาดำเนินการระหว่าง ม.ค.-เม.ย.57 หลังจากสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ได้เลื่อนออกมานับตั้งแต่กลางปี 55 ซึ่ง รมว.พลังงานในช่วงนั้นทั้งนายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ไม่ได้อนุมัติ
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนงานการออกประกาศเชิญจะทำได้ช่วง พ.ค.57 และขั้นตอนการยื่นขอสัมปทานจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนหรือถึง ต.ค.57 หลังจากนั้นก็คงจะมีการพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำเสนอ ครม.ชุดใหม่ให้อนุมัติได้ราว ก.พ.58 และออกสัมปทานปิโตรเลียมได้ มี.ค.58 ซึ่งจะเห็นว่ากว่าจะมีการขุดเจาะสำรวจได้จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี และหากพบว่าคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีรวมแล้วก็ไม่น้อยกว่า 2-3 ปี หรือกว่าจะผลิตได้จริงก็ปี 60 ซึ่งขณะนั้นไทยก็มีความต้องการใช้พลังงานอย่างมาก ขณะที่การผลิตในประเทศเริ่มลดลง