ส่วนโครงการภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการยุบสภานั้นเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการในปี 2557 วงเงินรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่หากรัฐบาลชุดใหม่เห็นว่ามีความจำเป็น สามารถเสนอให้จัดงบกลางมาดำเนินการได้ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 56,691 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี, โครงการก่อสร้างและขยายถนน 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญาณและรั้วกั้นทางรถไฟ, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา, โครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณเชียงของ จ.เชียงราย, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายปาดังเบซาร์ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟของมาเลเซีย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยในส่วนของ สนข.ยังคงเดินหน้าศึกษารายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบทั้ง 4 เส้นทาง เพราะงบประมาณในการศึกษาใช้งบรายจ่ายประจำปี ซึ่งโครงการภายใต้พรบงกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ใช้เงินเพื่อการก่อสร้าง มีเพียงส่วนน้อยที่นำเงินมาใช้ในการศึกษาออกแบบ หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงสามารถดำเนินการในส่วนของการศึกษาต่อไปได้ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ส่วนจะก่อสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าโครงการภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทต่อไป เพราะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจึงจำเป็นต้องดำเนินการ ส่วนจะใช้เงินลงทุนจากแหล่งใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากไม่เดินหน้าต่อไปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเสียโอกาสในการดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ เพราะนักลงทุนจะหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะตั้งข้อสังเกตเรื่องวิธีการใช้เงิน แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นโครงการที่ไม่ควรดำเนินการ ยกเว้นโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งบางส่วนเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะลงทุนในขณะนี้
"การดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะต้องเสียเวลาไป 1ปี และต้องไปเบียดงบประมาณปี 2558 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท หากต้องนำมาใช้ 8 หมื่นล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการในปี 2558 คงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ" นายจุฬา กล่าว
ขณะที่นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการประกวดราคา เพราะจะใช้รถไฟฟ้าขนาดเบา(Monorail) ซึ่งมีความหลากหลายของโครงสร้าง จึงต้องประกวดราคาระบบรถไฟฟ้าก่อน หลังจากนั้นจึงออกแบบงานโยธาให้รองรับระบบรถไฟฟ้า และเปิดประกวดราคางานโยธาต่อไป ต่างจากระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก(Heavy rail) ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถออกแบบงานโยธาได้ก่อน เพราะใช้รางขนาดมาตรฐาน เดิมคาดว่าจะประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาเดือนใน ก.พ.57 แต่เมื่อรัฐบาลยุบสภา จะต้องเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาต่อไป แต่คาดว่าจะเปิดประกวดราคาไม่เกินกลางปี 57
"โครงการนี้ล่าช้ามากว่าปีแล้ว เพราะการใช้ระบบ Monorail จะต้องเปลี่ยนการออกแบบรายละเอียดเพื่อให้เห็นงานก่อสร้างที่ชัดเจน และโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 48,619 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำงานอย่างละเอียด และเมื่อเดินหน้าสายสีชมพูได้ สายสีเหลืองน่าจะเร็วขึ้น" นายยงสิทธิ์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร วงเงิน 50,620 ล้านบาท ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการประสานงานกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) 2 จุด คือ บริเวณแยกไฟฉายและแยกท่าพระ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ และในระยะยาว รฟม.จะวางแผนงานล่วงหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ หากต้องประสานกับหน่วยงานใด หรือหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนก่อสร้างปรับปรุงถนน หรือแผนงานอื่นในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า รฟม.จะร่วมสมทบเงินลงทุนหรือก่อสร้างให้ก่อนและเรียกเก็บจากหน่วยงานนั้นๆ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ในการพิจารณาว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินโครงการภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หากไม่ดำเนินการตามแผนจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทันที
"โครงการที่บรรจุในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ได้เป็นโครงการใหม่ แต่เป็นโครงการที่ศึกษามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ในแผนแม่บทของประเทศ บางโครงการทำมาหลายปีแล้ว แต่นำมาบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง" นายชัชชาติ กล่าว