ปัจจัยบวกของปีหน้าคือ เศรษฐกิจโลกแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยในประเทศ คือ นโยบายการคลัง รวมทั้งงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนปัจจัยลบ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งการเมือง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
"คาดว่า GDP ปี 57 จะขยายตัวอยู่ที่ 4.0-5.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ส่วนการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 5-7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6.5% มูลค่าการส่งออก 245,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะโตประมาณ 8% หรือประมาณ 272,374 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ปี 57 จะขาดดุลการค้าประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุลประมาณ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 3%"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
สำหรับการส่งออกที่คาดว่าค่ากลางปี 57 จะอยู่ที่ 6.5% เป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นจากการส่งออกในปี 56 ที่ขยายตัวระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในภาพรวม แต่เชื่อว่าปี 57 จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงและมีเสถียรภาพมากขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 57 สามารถขยายตัวได้ในระดับที่ดี
ส่วนปัจจัยลบคือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอยู่มาก ประกอบกับการแข่งขันด้ารการส่งออกค่อนข้างรุนแรง
สำหรับภาคการท่องเที่ยว คาดว่า ปี 57 จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 4.5% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทะลุ 1.1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ส่วนภาคการเงิน คาดว่าตลอดปี 57เงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.00-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณในการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีการลดการใช้มาตรการ QE หรืออาจจะยกเลิกการใช้ในปี 57 ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหันกลับไปถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า
ส่วนราคาน้ำมันปี 57 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 105-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล