กรมเชื้อเพลิงฯ คาดเปิดให้เอกชนยื่นคำขอสัมปทานปิโตรเลียมมิ.ย.57, ปัดลักไก่ช่วงชุมนุมการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 17, 2013 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่า การเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในช่วงต้นปี 2557 นั้นเป็นไปตามแผนงานปกติ ไม่ได้อาศัยจังหวะในช่วงเกิดความชุลมุนทางการเมืองเร่งรัดดำเนินการตามที่ถูกกล่าวหา โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ

"ไม่มีนโยบายที่จะอาศัยช่วงชุลมุนของบ้านเมืองเปิดให้มีการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมในช่วงต้นปี 2557 ตามคำกล่าวหาดังกล่าวแต่ประการใด" กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุในเอกสารเผยแพร่

เนื่องจากการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามปกติของกรมอยู่แล้วที่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นขอสัมปทานเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุก 3-5 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดได้เปิดให้ยื่นขอสัมปทานเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว การที่เปิดให้มีการยื่นขอสัมปทานเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่บริเวณต่างๆของประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหม่และเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศ โดยคาดว่าในครั้งนี้จะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานฯ ประมาณเดือน มิ.ย.57 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานไม่ได้เร่งรีบออกในช่วงชุลมุนตามคำกล่าวหาดังกล่าว

สำหรับการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมในขั้นตอนแรกจะต้องพิจารณาว่าจะเปิดให้ยื่นในบริเวณใดที่มีโอกาสจะพบปิโตรเลียม เพื่อกำหนดแปลงสำรวจ หากมีพื้นที่ใดอยู่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติจะต้องประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมหรือกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นในการดำเนินงาน

นอกจากนั้นในการเปิดสัมปทานยังจะต้องกำหนดปริมาณงานและปริมาณเงินขั้นต่ำในการดำเนินงานของแต่ละแปลงสำรวจ ตลอดจนผลประโยชน์เพิ่มเติมที่รัฐควรได้รับนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด คือค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เพื่อให้ประเทศได้รับผลตอบแทนในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องการเปิดสัมปทานจะต้องนำเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและ รมว.พลังงาน พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนด้วยจึงจะดำเนินการได้

ส่วนเรื่องระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมว่าเป็นของรัฐหรือเอกชน ในทางปฏิบัติไม่ได้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมไม่ว่าจะอยู่ในระบบใด รัฐสามารถกำหนดให้ใช้ประโยชน์ภายในประเทศได้อยู่แล้ว ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดถูกใช้ภายในประเทศ มีเพียงน้ำมันดิบส่วนน้อยที่ไม่เป็นที่ต้องการของโรงกลั่นภายในประเทศจึงต้องส่งออก ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ใช้ประโยชน์ภายในประเทศทั้งหมดในส่วนของมูลค่าปิโตรเลียมที่ได้จากการขายนั้น ทั้งสองระบบคล้ายคลึงกันคือมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือจะแบ่งกันระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการแต่จะแตกต่างกันที่เครื่องมือหรือกลไกในการจัดเก็บ ซึ่งจะจัดเก็บมากหรือน้อยนั้นสามารถระบุเป็นจำนวนร้อยละที่อยู่ในกลไกการจัดเก็บนั้นๆได้

สำหรับระบบการจัดเก็บรายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นระบบสัมปทาน โดยมีการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากมูลค่าการขายในอัตราร้อยละ 5-15 และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนและมีกำไรแล้ว ก็จะแบ่งกำไรระหว่างรัฐกับเอกชนฝ่ายละครึ่งในรูปภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือบริษัทที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 23 นอกจากนั้นยังมีการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในอัตราร้อยละ 0-75 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่หรือปิโตรเลียมมีราคาสูงก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นรัฐยังได้รับผลประโยชน์อื่นๆในรูปโบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต หรือเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทยด้วย

"ขอยืนยันว่าไม่มีการเร่งรัดให้เปิดสัมปทานโดยอาศัยช่วงวิฤตของบ้านเมืองแต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงเตรียมการดำเนินงานตามขั้นตอนปกติของแผนงาน ควบคู่กับการพิจารณาผลประโยชน์ของรัฐที่จะได้รับให้ความเหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความรับผิดชอบและภารกิจประจำของหน่วยงาน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และตระหนักถึงความจำเป็นในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศจึงจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมแก่คณะกรรมาธิการของรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วยแล้ว โดยในทุกขั้นตอนมุ่งเน้นให้ประเทศชาติมีความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ และมีความยินดีจะรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ