ปัจจัยบวกของปีหน้าคือ เศรษฐกิจโลกแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยในประเทศ คือ นโยบายการคลัง รวมทั้งงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนปัจจัยลบ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งการเมือง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
"คาดว่า GDP ปี 57 จะขยายตัวอยู่ที่ 4.0-5.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ส่วนการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 5-7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6.5% มูลค่าการส่งออก 245,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะโตประมาณ 8% หรือประมาณ 272,374 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ปี 57 จะขาดดุลการค้าประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุลประมาณ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 3%"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
สำหรับการส่งออกที่คาดว่าค่ากลางปี 57 จะอยู่ที่ 6.5% เป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นจากการส่งออกในปี 56 ที่ขยายตัวระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในภาพรวม แต่เชื่อว่าปี 57 จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงและมีเสถียรภาพมากขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 57 สามารถขยายตัวได้ในระดับที่ดี
ส่วนปัจจัยลบคือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอยู่มาก ประกอบกับการแข่งขันด้านการส่งออกค่อนข้างรุนแรง
สำหรับภาคการท่องเที่ยว คาดว่า ปี 57 จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 4.5% ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทะลุ 1.1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ส่วนภาคการเงิน คาดว่าตลอดปี 57เงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.00-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณในการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีการลดการใช้มาตรการ QE หรืออาจจะยกเลิกการใช้ในปี 57 ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหันกลับไปถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันปี 57 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 105-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
"แนวโน้มในปี 57 จะมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกมากกว่าเข้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลด QE ในปลายปี 56 และยกเลิกในต้นปี 57 ผนวกกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนป้องกันความเสี่ยงด้วยการไม่ถือเงินบาทไว้ ซึ่งทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปีหน้า" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 56 โดยคาดว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจจะโตได้ 3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/56 จะเติบโตได้ 1% ซึ่งในช่วงท้ายปีที่มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 3-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางจากปัจจัยในประเทศเอง ซึ่งไม่ใช่จากผลของเศรษฐกิจโลก หรือผลจากปัญหาภัยธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดว่า ในปี 56 นี้ การบริโภคในประเทศจะขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูงถึง 6.6% ซึ่งการขยายตัวในระดับต่ำของการบริโภคในประเทศเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่เริ่มอ่อนแรงลง รวมถึงรัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นากรบริโภคใหม่ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ประกอบกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปลายปี ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชนนั้น คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ถึง 13.3% เป็นผลจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ตลอดจนปัญหาด้านนโยบายการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบช้ากว่าที่คาดไว้ รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ ยิ่งส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนค่อนข้างมาก
สำหรับการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 0.5% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 230,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเติบโตได้ 0.9% คิดเป็นมูลค่าราว 252,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปีนี้จะขาดดุลการค้าราว 21,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าตลอดทั้งปี 56 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยถึง 26.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.6%
ส่วนในภาคการเงินนั้น จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 2.25% นั้น นโยบายการเงินนี้สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปจะทรงตัวต่อเนื่อง และหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็น่าจะปรับตัวในทิศทางขาขึ้นได้
อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยที่ระดับ 30.70 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวในปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังซึม รวมทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มีผลกับอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง คือ มาตรการ QE ของสหรัฐฯ ว่าจะปรับลดลงหรือยกเลิกในปลายปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงสิ้นปี