ส่วนด้านการส่งออก คาดว่า ปี 2557 การส่งออกกุ้งน่าจะโตได้กว่า 20% มาที่ประมาณ 2 แสนตัน หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท
สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกกุ้งได้แล้ว 175,713 ตัน มูลค่า 56,274 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 ปริมาณลดลง 38.40% มูลค่าลดลง 28.89%
“ปัญหาใหญ่ในปี 2556 คือโรค EMS ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างรุนแรง และเนื่องจากยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการป้องกันโรค ทำให้เกษตรกรอาจจะยังขาดความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงเกษตรกรทุกท่านว่า ขณะนี้มีความพยายามอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน รวมถึงบริษัทเอกชนชั้นนำต่างๆ ที่ทราบว่ากำลังทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่อยากฝากย้ำข้อกังวล และข้อห่วงใย ในความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยรวม เกี่ยวกับการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูป ขอให้นำเข้ากุ้งเฉพาะจากประเทศที่ไม่มีเชื้อโรคกุ้งอันตรายเท่านั้น และขอให้รัดกุม มีมาตรการเข้มข้นหากต้องนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมจากต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะนำเข้าเชื้อโรคกุ้งอันตรายเข้ามาซ้ำเติมอุตสาหกรรมกุ้งไทยอีกในอนาคต เพราะปัจจุบันพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ มีเพียงพอและคุณภาพดี เป็นสายพันธุ์ที่ดี โตไวฯ อยู่แล้ว" นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญของไทย ประกอบกับความต้องการบริโภคยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าราคากุ้งจะสูงกว่าราคาทูน่าก็ตาม รวมทั้ง ไทยน่าจะได้รับการต่ออายุสิทธิ GSP จากอียู
"จากปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยฟื้นตัวได้ และเชื่อว่าไทยจะกลับมาทวงแชมป์การส่งออกกุ้งในอีก 2 ปี หลังปีนี้ถูกอินเดียแซงหน้าเพราะเราเผชิญปัญหา EMS ทำให้ผลผลิตลดลงจนกระทบต่อการการส่งออก"นายสมศักดิ์ กล่าว