ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อไทยรับมือเงินไหลออกได้หลังเฟดลดขนาด QE

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 19, 2013 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีมติให้ลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE ทั้งในส่วนของหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อจำนองและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรวม 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนม.ค.57 เป็นต้นไป จะเป็นทิศทางที่ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า

แต่การปรับตัวของตลาดการเงินเพื่อรับข่าวนี้ น่าจะอยู่ภายใต้สภาวะที่เป็นปกติ ไม่ได้สะท้อนภาวะที่ตื่นตระหนกมากนัก เพราะเป็นทิศทางที่เฟดได้พยายามสื่อสารกับตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว และเฟดเองก็สร้างสมดุลด้วยการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อย เพื่อส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นกับตลาดการเงินว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังคงยืนที่ระดับใกล้ 0% แม้อัตราการว่างงานจะลดต่ำลงกว่าระดับ 6.5% ในระยะข้างหน้า และการเริ่มทยอยถอยออกจากมาตรการ QE ครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นจุดเปลี่ยนไปสู่การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในกรณีพื้นฐานว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวประมาณ 2.2 % ในปี 57 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 56) จะเอื้อให้เฟดสามารถเดินหน้าชะลอมาตรการ QE อย่างค่อยเป็นค่อยได้ตั้งแต่ต้นปี 57 ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุน-กลุ่มกองทุนทำการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก และตลาดการเงินไทยทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ก็อาจจะต้องเตรียมรับสภาวะที่ผันผวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

แต่กระนั้น ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ เครื่องมือทางการเงินของธปท. และสภาพคล่องในระบบการเงินไทยน่าจะยังสามารถรองรับกับภาวะดังกล่าวได้ในช่วงปีข้างหน้า โดยระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย รวมฐานะสุทธิฟอร์เวิร์ด (ล่าสุด ณ วันที่ 6 ธ.ค.56 อยู่ที่ 191.2 พันล้านดอลลาร์) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอ เมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศของไทยซึ่งอยู่ที่ 141.0 พันล้านดอลลาร์ (แบ่งเป็นหนี้ระยะสั้น 64.3 พันล้านดอลลาร์ฯ และหนี้ระยะยาว 76.7 พันล้านดอลลาร์) และมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ซึ่งอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อคิดเป็นรูปดอลลาร์ฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 21.7 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินไทยยังมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ ธปท.สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตลาดเงินระยะสั้นผ่านการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ มียอดคงค้างการถือครองพันธบัตรธปท. ณ สิ้นเดือนพ.ย.56 อยู่ราว 1.54 ล้านล้านบาท

"เครื่องมือของธปท. น่าจะสามารถรองรับสถานการณ์เงินทุนไหลออก พร้อมๆ กับดูแลระดับสภาพคล่องให้มีความเพียงพอได้ท่ามกลางทิศทางการชะลอมาตรการ QE ของเฟดในช่วงปีข้างหน้า ขณะที่ การกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของกนง. ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นกลไกในการส่งสัญญาณไปที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้ แม้ว่าเครื่องชี้ของตลาดเงินบางส่วน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจต้องทยอยปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินบาทอาจจะแกว่งตัวในช่วงปี 57 ก็ตาม" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ทั้งนี้ คงต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ของตลาดแรงงาน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเฟดสามารถเดินหน้าทยอยลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาจังหวะการขยายตัวได้อย่างราบรื่น ตลาดการเงินคงจะเริ่มคาดการณ์ถึงขั้นตอนถัดไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากมาตรการ QE ของเฟดได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งเป็นนัยว่า ทิศทางตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวสะท้อนการคาดการณ์เกี่ยวกับวัฏจักรการคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 57


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ