ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวปี 57 คาดว่าจะอยู่ 1.35 ล้านล้านบาท เติบโต 18% จาก 1.16 ล้านล้านบาทในปี 56
"สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่เข้มแข็ง แม้จะมีสถานการณ์การชุมนุมประท้วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมกระจายไปในหลายพื้นที่ และหลายประเทศมีคำเตือนพลเมืองของตัวเองที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยก็ตาม โดยใน 11 เดือนปี 56 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 21% แสดงว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังมั่นใจ" นางปิยะมาน กล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีนซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงสุด ซึ่งในปี 56 นี้ถือว่าตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนเติบโตก้าวกระโดด 72.05% มาอยู่ที่ 4.79 ล้านคน จาก 2.7 ล้านคนในปี 55 จากกระแสความนิยมของชาวจีนต่อภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยต่อเนื่องแต่คาดว่าคงจะเติบโตในอัตราปกติที่ 20%
นางปิยะมาน เชื่อว่าธุรกิจการท่องเที่ยวไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดว่าไตรมาส 1 ปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 7.6 ล้านคน เติบโต 8.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันประคับประคองบรรยากาศทางการเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรง
"จุดหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีกคือเรื่องความปลอดภัย"นางปิยะมาน กล่าว
นางปิยะมาน กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหยั่งรากลึกมานานมาก ซึ่งมองว่าการปฏิรูปคือเป้าหมายหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้สามารถเยียวยาได้
"ประเด็นแรกอยากให้เอาความเป็นคนไทยด้วยกัน จิตใจของคนไทยด้วยกันช่วยกันคิดหาทางออก ส่วนข้อกฎหมายน่าจะประเด็นหลังที่จะมาพิจารณากันหลังจากทุกฝ่ายเห็นเป้าหมายที่ตรงกัน สิ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนคือ การกระจายรายได้โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวด้วยการทำเป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยว การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น"นางปิยะมาน กล่าว
นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานฝ่ายการตลาด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ไทยยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศไทยให้ 17 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป ซึ่งมีอัตราการเข้าพักยาวนานถึง 17 วัน มียอดจับจ่ายใช้สอยสูง โดยเฉพาะเป็นกลุ่มยินดีที่จะจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบายทั้งเรื่องค่าที่พัก ค่าเดินทาง รวมถึงค่าบริการต่างๆ ดังนั้น สภาฯจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนเรื่องนี้
นางพรทิพย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ยอมรับว่าการยุบสภาส่งผลให้การกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐต้องสะดุดลงและส่งผลต่อตลาดการประชุมสัมมนาชะลอตัวลง โดยมีอัตราการยกเลิกการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานราชการลงไปค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่กระทบอุตสาหกรรมในภาพรวมมากนักเนื่องจากการประชุมสัมมนาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดประชุมสัมมนาน่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาส 2 ของ ปี 57