นอกจากนี้ บีโอไอยังจัดการอบรมให้กับหัวหน้าสำนักงานต่างประเทศได้รับฟังการบรรยายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจส่งเสริมและชักจูงการลงทุน เช่น ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ โอกาสและความท้าทายของการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือ AEC ภาวะอุตสาหกรรมและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภาวะตลาดแรงงาน เป็นต้น
สำหรับภารกิจหลักของสำนักงานต่างประเทศในปีหน้า ได้แก่ 1.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทยยังคงต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง และ 2.การเผยแพร่ข้อมูลนโยบายใหม่ให้นักลงทุนต่างชาติทราบ อาทิ นโยบายเรื่องอีโคคาร์ เฟส 2 และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 58 รวมทั้งให้สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ
"ในปี 57 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บีโอไอยังคงวางตำแหน่งให้นักลงทุนหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป เป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ควบคู่กับการชักจูงลงทุนจากพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย โดยจะใช้กิจกรรมหลัก เช่น การพบนักลงทุนเป้าหมายเป็นรายบริษัท การจัดสัมมนาชักจูงการลงทุนเป็นรายสาขาอุตสาหกรรม และการสร้างเครือข่ายการลงทุนเป็นกิจกรรมดึงดูดการลงทุนเช่นเดิม และเพิ่มการให้ความสำคัญกับ กลุ่มประเทศใหม่ๆ เช่น จีน และ อินเดีย นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ยังเป็นจุดขายสำคัญสำหรับไทยในการชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งถือว่าไทยยังได้เปรียบประเทศในภูมิภาคอื่นๆ" เลขาบีโอไอ กล่าว
ทั้งนี้ บีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศรวม 14 แห่งทั่วโลก ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย 8 แห่ง ที่กรุงโตเกียว และนครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว ประเทศจีน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นครไทเป ประเทศไต้หวัน และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
ส่วนสำนักงานบีโอไอในภูมิภาคยุโรปมี 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานประจำนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอีก 2 แห่งในภูมิภาคอเมริกา ได้แก่ สำนักงานประจำนครนิวยอร์ก และนครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำนักงานประจำนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย. 56) มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 1,015 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 386,671ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 22 โดยประเทศที่ลงทุนหลัก 5 อันดับแรกที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์ เช่น ญี่ปุ่น)
อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงสุด คือกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมดในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา รองลงมา ได้แก่ กิจการบริการและสาธารณูปโภค ร้อยละ 18 และกิจการเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 10 ตามลำดับ