(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย พ.ย.ส่งออกหด 4.08% นำเข้าหด 8.6% ขาดดุลฯ 557 ล้านเหรียญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2013 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ย.56 ว่า การส่งออก ลดลง 4.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 18,757 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้า ลดลง 8.60% มาที่ 19,314 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ในเดือนนี้ ขาดดุลการค้า 557 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาวะในช่วง 11 เดือนแรกของปี 56 การส่งออก ลดลง 0.49% มาที่ 210,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนำเข้า เติบโต 1.22% มาที่ 231,997 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 21,907 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมคาดการณ์การส่งออกปีนี้ในช่วง ติดลบ 0.06% ถึง ขยายตัว 0.2%

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน พ.ย.หดตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาดการณ์ ปัญหาการพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าอุตสาหกรรม ปัญหาผลผลิตของสินค้าเกษตร และฐานการส่งออกที่สูงที่สุดในเดือน พ.ย.55

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 63.8% ของการส่งออกรวม ลดลง 5.2% โดยสินค้าฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (-5.3%) หดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 10 ในตลาดอินเดีย เบลเยียม มาเลเซีย สหรัฐอาหรับฯ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (-12.3%) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย วัสดุก่อสร้าง (-44.2%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-22.9%) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ในตลาดฮ่องกง สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับฯ และเบลเยียม ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-1.7%) ลดลงในตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ผลิตภัณฑ์ยาง (-5.3%) ส่วนสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+3.3%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก (+2%) สิ่งทอ (+0.7%) สิ่งพิมพ์ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์ (+0.2%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (+38.5%) ของเล่น (+16.2%)

สำหรับสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร (สัดส่วนการส่งออก 17.8%) ลดลงเช่นเดียวกัน (-2.5%) โดย ข้าว (-25.7%) กลุ่มสินค้าอาหาร หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดย อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ลดลง 6.2% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 25.9% ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เนื่องมาผลผลิตตกต่ำจากปัญหาโรคตายด่วน ผักและผลไม้ ลดลง 2.8% ส่วนสินค้าฯ ที่ยังเติบโตได้ดี ได้แก่ ยางพารา เพิ่มขึ้น 13.2% ในตลาดจีน +38.7% มาเลเซีย +11.1% บราซิล +3.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 2% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่มขึ้น 1.2% น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 46.2%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง (+3.1%) หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน โดยตลาดสหรัฐฯ (+5%) EU 15 ประเทศ (+5.9%) ยกเว้น ญี่ปุ่นยังคงหดตัว 1% เป็นผลจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงไปด้วย โดยเฉพาะ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-21.3%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-17.2%) ไก่แปรรูป (-15.9%)

สำหรับการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง เช่น จีน ยังคงขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน (+8.5%) เนื่องจากนโยบายของจีนที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป (+119.3%) ยางพารา (+38.7%) และเม็ดพลาสติก (+10.8%) เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ส่วนอาเซียนหดตัว 2.2 % โดยหดตัวเป็นเดือนแรกหลังจากที่ขยายตัวต่อเนื่องมา 5 เดือน เป็นผลมาจากการหดตัวในตลาดประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่าง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งหดตัว 22.3% 13.3% และ11.1% ตามลำดับ ขณะที่เอเชียใต้หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 (-21.5%) ตลาดศักยภาพระดับรอง อย่าง ตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (+3.4%) และเดือนที่ 5 (+2.9%) ตามลำดับ ส่วนทวีปออสเตรเลีย เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อของภาคเอกชน รวมถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคจากไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (-12.1%) ทวีปแอฟริกาหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน (-32%) จากเหตุความไม่สงบในอียิปต์ ไนจีเรีย ลิเบีย และซูดาน

ด้านการนำเข้า เดือน พ.ย.56 มีมูลค่า 19,314.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.60 (YoY) ตามการนำเข้าที่หดตัวในหมวดสินค้าทุน วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป อุปโภคบริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง เมื่อหักการนำเข้าสินค้าเฉพาะ (ได้แก่ ทองคำ เชื้อเพลิง และอาวุธยุทธโธปกรณ์) ออก จะเป็นการนำเข้าสินค้า Real Sector มูลค่า 14,688.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.15

ดุลการค้า เดือน พ.ย.56 ขาดดุลการค้า 557 ล้านเหรียญสหรัฐ (24,520.4 ล้านบาท) และระยะ 11 เดือน ขาดดุลการค้ามูลค่า 21,907.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (740,484.1 ล้านบาท) เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+8%) ทองคำ (+35.4%) เครื่องบิน เครื่องร่อนและอุปกรณ์ (+143.2%)

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การค้ารวมของไทยกับ FTA 8 ภาคี มีมูลค่า 2,1589 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 56.7 % ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก การส่งออก เดือน พ.ย.56 ไปยังประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 10,867.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 2% (YoY) แต่มีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ FTA เพิ่มขึ้น 3.2% (YoY) ประเทศที่ไทยใช้สิทธิฯ 3 ลำดับแรก ได้แก่ AFTA (+2.2%) จีน (+4.1%) ออสเตรเลีย (+9%) สินค้าที่ใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก ได้แก่ รถยนต์และยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มันสำปะหลัง แผ่นยางผสม ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น

การนำเข้า เดือน พ.ย.56 จากประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 10,721.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20.5% (YoY) เป็นการใช้ภายใต้สิทธิพิเศษ FTA ลดลง 7.3% (YoY) ประเทศที่ไทยใช้สิทธิ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน (+4.9%) AFTA (-16.6%) ญี่ปุ่น (-15.9%) สินค้าที่ใช้สิทธิ์ FTA นำเข้า ได้แก่ ส้มแมนดาริน กระเบื้องปูพื้น ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็ก แอปเปิ้ล รถปั้นจั่น แคโทด ถ่านหิน อุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ พวงมาลัยและแกนพวงมาลัย

ด้านดุลการค้า ภาพรวมได้ดุลการค้า FTA มูลค่า 146.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ได้ดุลกับ AFTA อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และขาดดุลกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้)

การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าชายแดน เดือนพฤจิกายน มีมูลค่าการค้ารวม 79,767.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2 % (YoY) โดยไทยทำการค้ากับมาเลเซียสูงสุด มูลค่า 42,779 ล้านบาท(+3.5%) เมียนมาร์ 18,168 ล้านบาท (+4.2%) สปป. ลาว 11,160 ล้านบาท(+1.9%) กัมพูชา 7,661 ล้านบาท (+0.8%)

การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ จีนตอนใต้ และเวียดนาม เดือน พ.ย.56 มีมูลค่าการค้ารวม 10,748.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8 % (YoY) โดยไทยทำการค้ากับสิงคโปร์สูงสุด มูลค่า 5,262 ล้านบาท (+20.6%) จีนตอนใต้ 3,807 ล้านบาท (+2.6%) ล้านบาท เวียดนาม 1,679 ล้านบาท (+60.4%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ