ธปท.หารือ คลัง พร้อมประเมินผลกระทบสหรัฐลด QE กำหนดแผนออกพันธบัตรปี 57

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2013 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแผนการออกพันธบัตร ธปท.ในปี 57 ว่าได้มีการพิจารณาปรับแผนการออกพันธบัตรภายใต้ข้อมูลต่างๆ ที่ธปท.ใช้พิจารณาประกอบไม่ว่าจะเป็นปัจจัยความต้องการพันธบัตรในตลาด ที่ ธปท.ได้ประมาณการออกพันธบัตรให้สอดคล้องตามความต้องการของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับการออกพันธบัตรของรัฐบาล โดย ธปท.จะให้สิทธิกับกระทรวงการคลังในการออกพันธบัตรเข้าสู่ตลาดก่อน รวมถึงปัจจัยที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เตรียมลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ในเดือนม.ค.57 ลง

“ก่อนจะออกประกาศฉบับนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังได้หารือและวางแผนกันล่วงหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทาง ธปท.ก็ปรับให้สอดคล้องมีความต้องการในตลาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ขาดตลาด ที่สำคัญไม่ออกมาทับซ้อนกันจนเกินความต้องการซื้อของตลาดเพื่อรักษาผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยประกาศที่ออกมาก็เพื่อเป็นแนวแก่ผ้ลงทุนว่าธปท.จะออกพันธบัตรชนิดใดบ้าง ปริมาณเท่าใด วงเงินประมาณไหน"นางผ่องเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปริมาณพันธบัตรที่ออกมานั้นจะมากน้อยอย่างไร คงยังไม่สามารถกำหนดได้ เพราะต้องพิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยธปท.ต้องพิจารณาล่วงหน้าและพร้อมปรับปริมาณการออกพันธบัตรให้เหมาะสมในทุกๆ เดือน และจะออกประกาศทุกสิ้นเดือนให้ตลาดทราบ

รายงานข่าวจาก ธปท.เปิดเผยว่า จากการประเมินแนวโน้มภาวะสภาพคล่อง รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดพันธบัตรจากปัจจัยภายนอก แผนการออกพันธบัตรของรัฐบาล รวมถึงความคิดเห็นของผู้ร่วมตลาด ทำให้ธปท.ได้วางแผนเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารสภาพคล่อง โดยคำนึงถึงความเพียงพอของพันธบัตรทุกระยะต่อความต้องการลงทุนของตลาด

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะยกเลิกการออกพันธบัตรประเภทที่จำหน่ายเป็นส่วนลดระยะ 1 เดือน เพราะในปี 57 รัฐบาลมีแผนจะออกตั๋วเงินคลังระยะ 1 เดือนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอและสอดคล้องกับแผนของรัฐบาล นอกจากนี้ยังวางแผนเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารสภาพคล่อง ซึ่ง ธปท.จะพิจารณาปรับวงเงินพันธบัตรแต่ละประเภทอายุให้เหมาะสมกับภาวะตลาดเงินและตลาดพันธบัตร รวมทั้งคำนึงถึงวงเงินการออกพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา และจะประสานงานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ