(เพิ่มเติม) สมาคมไก่ตั้งเป้าปี 57 ส่งออก 6.5 แสนตัน หลังรัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกแบน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2013 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคึกฤกธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯตั้งเป้าการส่งออกไก่ในปี 57 จะมีปริมาณ 6.5 แสนตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากปี 56 คาดส่งออกไทยได้ 5.3 แสนตัน มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท เทียบจากปี 55 ที่ส่งออก 5.5 แสนตัน มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติให้ไทยส่งออกไก่สดได้แล้ว มีผลตั้งแต่ 25 ธ.ค.56 หลังจากญี่ปุ่นห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยเมื่อปี 47 หรือ 10 ปีที่แล้ว ทางสมาคมฯคาดว่าจะส่งออกไก่ไทยไปญี่ปุ่นในปีหน้าปริมาณ 1 แสนตัน มูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน ตลาดไก่ในญี่ปุ่น มีปริมาณกว่า 8 แสนตัน/ปี แบ่งเป็น ไก่สด 4 แสนตัน/ปี ไก่แปรรูป 4 แสนตัน/ปี

นายคึกฤกธิ์ กล่าวว่า ไทยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะส่งออกที่เคยส่งออกไก่สดประมาณ 2 แสนตัน โดยในปี 46 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่สด 4.8 แสนตัน/ปี โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาด 39% บราซิล มีส่วนแบ่งตลาด 37% จีน 13% แต่ปัจจุบัน บราซิล กลับมามีส่วนแบ่งตลาดพุ่งขึ้น 88% หลังไทยถูกห้ามนำเข้า ทั้งนี้ ไทยคาดว่าจะกลับมามีส่วนแบ่ง 40% ขณะที่ไก่แปรรูป มีปริมาณนำเข้า 2.2 แสนตัน เมื่อปี 46 ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาด 37% ส่วนจีนมีส่วนแบ่ง 58% และในปี 54 ญี่ปุ่นนำเข้า 4.2 แสนตัน ไทยมีส่วนแบ่ง 50% แบ่งกับจีนที่มีส่วนแบ่งเท่ากัน

นายคึกฤกธิ์ กล่าวว่า เอกชนหลายรายได้เตรียมขยายกำลังการผลิตไก่สดรองรับตลาดญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นชอบไก่นำเข้าไทย เพราะใช้ฝีมือแรงงานตัดแต่งเนื้อไก่ และคาดว่าการเลี้ยงไก่จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปีนี้ปริมาณ 25 ล้านตัว/สัปดาห์ โดยราคาเนื้อไก่เนื้อสูงขึ้นมาอยู่ 45-46 บาท/กก.

นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าประเทศเกาหลีใต้จะเปิดให้นำเข้าไก่สดจากไทย หลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดแล้ว โดยเกาหลีใต้นิยมไก่สดมากกว่าไก่แปรรูป ก่อนหน้าที่จะยกเลิกการนำเข้าไก่สดในปี 47 เกาหลีใต้นำเข้าปีละประมาณ 4 หมื่นตัน/ปี ในปี 46 ขณะที่ปริมาณนำเข้าไก่แปรรูปที่ผ่านมา 1 หมื่นตัน/ปี

ด้านนายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการทำงานตามมาตรฐานสากลตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร (Supply Chain) มาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในหลักธรรมาภิบาล โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตเดียวกับบริษัทไปสู่เกษตรกรผ่านโมเดลคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ฉบับซีพีเอฟ ที่ดำเนินภายใต้ชื่อ โครงการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย และถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านผู้ผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัย (Food Safety) ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการที่ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนนการครอบคลุมถึง 12 ประเทศ และมีการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายยังประเทศต่างๆมากกว่า 40 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก คิดเป็นจำนวนครอบคลุมประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และ สุกร น้อยลงเพื่อสอดคล้องกับกระแสของโลก ที่กำลังรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะลดลง เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น ขณะที่ใช้วัคซีนในการเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้น

ส่วนกรณีกระแสข่าวลือไข้หวัดนกที่ยังมีมาตลอด นายณรงค์กล่าวว่า เป็นข่าวลือที่ไม่มีมูล ที่พบใน Social Media ที่ผ่านมา ประเทศอียูได้อนุญาตให้ไทยนำเข้าไก่สดแล้วเมื่อ ก.ค. 56 และล่าสุด ญี่ปุ่นอนุญาตให้ไทยนำเข้าไก่สดแล้ว

"Food Safety เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลก็ตั้งเป้าให้ไทยเป็นครัวของโลก ทุกรัฐบาลก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้"

นายณรงค์ ยังกังวลกรณีสหรัฐฯมีความพยายามผลักดันชิ้นส่วนไก่และสุกรนำเข้าไทย ถ้าหากปล่อยให้นำเข้าจะกระทบกับอุตสาหกรรมเกษตรในไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ