พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัว หลัง EU ตัดสิทธิ GSP ในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2013 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้สิทธิ GSP ใหม่ โดยมุ่งเน้นการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศที่มีความต้องการอย่างแท้จริง(Countries most in need) ซึ่งจะมีการระงับสิทธิฯ ประเทศที่ถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ในเกณฑ์ High Income Countries และ Upper Middle Income Countries เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะมีการทบทวนและประกาศรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิฯ ภายในวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปีนั้น

ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศระเบียบ Commission Delegated Regulation (EU) No../.. of 30.10.2013 amending Annexxes I, II, and IV of Regulation (EU) No 978/2012 applying a scheme of generalised tariff preferences เพื่อปรับปรุงรายชื่อประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP แล้ว โดยระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 57 ตามระเบียบดังกล่าวมีรายชื่อประเทศที่ถูกตัดสิทธิ GSP เนื่องจากมีรายได้เกินกว่าระดับ Upper Middle Income Countries เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน (ตั้งแต่ปี 2554-2556) จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เอกวาดอร์ มัลดีฟส์ และไทย โดยประเทศที่ถูกระงับสิทธิฯ ตามหลักเกณฑ์นี้จะมีระยะเวลาในการปรับตัว 1 ปี หลังจากระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กล่าวคือประเทศดังกล่าวจะสามารถใช้สิทธิ GSP ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับรายได้ของไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง(Upper Middle Income countries) ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก มาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การระงับสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดี ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น จีน ก็ถูกระงับสิทธิฯ เช่นกัน จึงคาดว่าไทยจะไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากนัก และเพื่อให้ไทยยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดยุโรปไว้ได้อย่างถาวร ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ได้ตามระดับสากล เนื่องจากไทยอาจไม่สามารถพึ่งพิงความได้เปรียบในด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ