ปัจจัยหนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยอ่อนแรงลง สอดคล้องกับทิศทางสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดการเงินไทย รวมถึงตลาดการเงินโลก มีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก ตามการเดินหน้าอีดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางประเทศแกนหลัก
กระนั้นก็ดี ภาพการอัดฉีดปริมาณเงินจำนวนมากดังกล่าวที่จะทยอยลดน้อยลงเมื่อเข้าสู่ปี 2557 หลังเฟดจะเริ่มเดินหน้าลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE เหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นไป (จากเดิมเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คงทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่เคยไหลเข้าสู่ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ประเทศแกนหลักอย่างชัดเจนมากขึ้น จนน่าจะกดดันให้ไทยต้องบันทึกยอดขาดดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายในปี 2557 และเมื่อผนวกกับดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีหน้าที่มีแนวโน้มตกอยู่ในแดนลบเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ก็คงหมายความถึงเม็ดเงินที่จะเป็นสภาพคล่องใหม่ของระบบการเงินไทยในองค์รวมที่ปรับลดลง
อย่างไรก็ดี แม้สภาพคล่องในองค์รวมของระบบการเงินไทยอาจมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 แต่เชื่อว่าด้วยการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการบริหารจัดการพันธบัตร ธปท.ที่มียอดคงค้างกว่า 2.93 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556) แล้ว ก็คงช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวของสภาพคล่องในระบบการเงินไทยได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่สภาพคล่องเกิดตึงตัวขึ้นมากอย่างฉับพลัน และหนุนให้สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการของตลาดตลอดทั้งปี 2557 ได้อย่างไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวล
ด้านแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น่าจะสามารถประคับประคองการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2556 และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเลขสองหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีก็ตาม โดยการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปี 2557 คงได้รับแรงหนุนหลักจากโมเมนตัมทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวของภาคส่งออกไทยที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นำโดยความต้องการสินเชื่อจากฝั่งผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) และสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)
ขณะที่ ความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยในองค์รวม อาจชะลอตัวลงตามผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่เชื่อว่าความต้องการเบิกใช้สินเชื่อรายย่อยบางประเภทน่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง อาทิ ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเติบโตได้ตามการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของครัวเรือน แม้จะถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมก็ตาม
อย่างไรก็ดี เส้นทางการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2557 ยังคงขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยที่อาจมีผลต่อความต้องการสินเชื่อของภาคส่วนต่างๆ ในระยะถัดไป อาทิ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนและการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนอยู่ในภาวะชะลอตัว ท่ามกลางภาวะสูญญากาศทางการเมืองในประเทศ โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยซึ่งลากยาวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบันและอาจยืดเยื้อครอบคลุมตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 เนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้นั้น นอกจากจะส่งผลให้การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจทำได้ยากลำบากแล้ว ยังมีส่วนเหนี่ยวรั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนจนส่งผลต่อบรรยากาศของการลงทุนและการบริโภคในระยะถัดไป ตลอดจนอาจกดดันให้ความต้องการสินเชื่อของระบบการเงินไทยในช่วงไตรมาส 1/2557 ต้องตกอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วงท้ายปี 2556 เพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมืองในประเทศ
แนวโน้มการเร่งขึ้นของค่าครองชีพ อาจกระทบต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือน ทั้งนี้ เมื่อต่อภาพไปในปี 2557 แล้ว คาดว่า ภาระค่าครองชีพของครัวเรือนอาจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยมีปัจจัยหนุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางราคาพลังงานในประเทศที่อาจขยับขึ้น ตามแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของภาครัฐและการทยอยปรับขึ้นของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก แนวโน้มการเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าของเงินบาทที่กระทบต่อราคาสินค้านำเข้า ตลอดจนการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังราคาสินค้าผู้บริโภค ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคงมีผลกดดันความสามารถในจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยรอบด้านทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนฉุดรั้งความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารายย่อยให้ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนมีบทบาทในการช่วยผลักดันให้สินเชื่อในองค์รวมให้เติบโตได้ในอัตราเร่ง
ความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งความรวดเร็วในการทยอยปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate คงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับตลาดการเงินทั่วโลก เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงแล้ว ก็คงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถทยอยปรับลดวงเงินตามมาตรการ QE ได้อย่างต่อเนื่องและนำมาสู่การคาดการณ์ถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds Rate ในอนาคตที่ไม่ไกลจากปี 2557 ซึ่งคงหมายความถึง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกจะเริ่มปรับตัวสะท้อนวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น อันเพิ่มแรงกดดันต่อจุดยืนด้านนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธปท.ผ่านการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลกลับสู่ประเทศแกนหลักอย่างชัดเจนมากขึ้น และกดดันให้ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า
อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายและทิศทางเงินบาท คงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธปท.ในปี 2557 เนื่องจากธปท.ยังจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงขาลงหลายประการ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในระยะถัดไป ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและเอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ธปท.คงติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับความจำเป็นของเศรษฐกิจไทย ทั้งในมิติด้านสภาพคล่อง ค่าเงินบาท ตลอดจนความต่อเนื่องของฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย
จากปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆ ข้างต้นนั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2557 คงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ทั้งจากภาคธุรกิจที่รอสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ จากภาคครัวเรือนซึ่งมีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและมีการเร่งเบิกใช้สินเชื่อไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ตลอดจนการระมัดระวังจากธนาคารพาณิชย์เองเพื่อบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อไม่ให้เป็นประเด็นที่ต้องกังวล
ด้านเงินฝากและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการบริหารจัดการสภาพคล่องและการระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2557 นอกเหนือจากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อแล้ว คงได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย การแข่งขันระดมเงินออมของช่องทางอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนปัจจัยเฉพาะอื่นๆ อาทิ จังหวะการครบกำหนดของเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ไม่ได้ขยายตัวอย่างหวือหวา คงช่วยให้แต่ละธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดจังหวะการระดมเงินออมและบริหารจัดการภาระดอกเบี้ยจ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ดอกเบี้ยรับ การเติบโตของสินเชื่อ ตลอดจนการครบกำหนดของเงินฝากประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประคองส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากปี 2556 อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 แล้ว การบริหารจัดการเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้น หากเงินให้สินเชื่อยังสามารถประคับประคองการเติบโตไว้ได้ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่ สภาพคล่องของระบบการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากผลกระทบของความผันผวนในกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจกดดันให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจำเป็นต้องระดมเงินออมในช่วงเวลาที่ไล่เรียงกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจหลัก ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่สามารถตอบสนองความต้องการออมของลูกค้า ทั้งในมิติด้านผลตอบแทน ระยะเวลาฝาก รวมถึงเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ที่แข่งขันได้กับการระดมเงินออมของช่องทางอื่นๆ ซึ่งน่าจะเข้าสู่กระบวนการระดมทุนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการระดมเงินทุนของภาครัฐเพื่อใช้จ่ายตามแผนงบประมาณปกติด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และความต้องการระดมเงินออมของภาคเอกชนผ่านการออกตราสารต่างๆ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลอดทั้งปี 2557 ธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถบริหารเงินฝากให้เติบโตได้ในระดับที่สอดคล้องกับโมเมนตัมการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งคงช่วยหนุนให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว หรือตึงตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2556