(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อปี 56 เฉลี่ย 2.18% คาดปี 57 อยู่ในกรอบ 2.00-2.80%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2014 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือนธ.ค.56 โดยดัชนีอยู่ที่ 106.01 เพิ่มขึ้น 0.14% จากเดือนพ.ย.56 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.67% และขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) อยูที่ 103.64 เพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือนพ.ย.56 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.91%

ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 56 เพิ่มขึ้น 2.18% ขณะที่ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 56 เพิ่มขึ้น 1%

ทั้งนี้ หากเทียบกับดัชนีราคาเดือนธ.ค.55 CPI เดือนธ.ค.56 สูงขึ้นร้อยละ 1.67 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.01 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.65 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 7.79 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 6.44 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.38 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.46 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.22

สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.97 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.95 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.82 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.54 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.17 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.56 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.92

ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ยปี 56 เทียบกับปี 55 จะพบว่า CPI สูงขึ้นร้อยละ 2.18 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.40 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 1.11 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.59 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.00 ผักและผลไม้ ร้อยละ 6.47 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.91 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.13 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.68

สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.50 ตามการสูงขึ้นของดัชนีหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.86 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.89 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.87 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.33 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.49 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5.84

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 56 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก มีอัตราขยายตัวที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.18 ชะลอตัวลงจากปี 55 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.02 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 56 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงและราคาสินค้าเกษตรสำคัญสำคัญชะลอตัวลง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศลดลง ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบที่สองเมื่อเดือนม.ค.56 ซึ่งมีผลกระทบต่อระดับราคาไม่มากนัก จากสาเหตุดังกล่าวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 ชะลอตัวจากไตรมาส 4/55 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.23 ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจเพื่อเป็นการเร่งการใช้จ่ายภายประเทศ โดยมีการกระตุ้นด้านการบริโภค มาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก และนโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรที่เป็นนโยบายต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายการบริโภคของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นของต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในช่วงต้นไตรมาส ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 และ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.32 และ 1.67 ตามลำดับ

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 1.68 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติตามมาตรการดูแลและตรึงราคาสินค้าเพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 57 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.00-2.80% ภายใต้สมมติฐานที่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยเติบโตได้ในระดับ 3-5%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 92-115 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ 28-34 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงใช้มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า หากในปีนี้รัฐบาลยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะมีผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้นนั้น จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นอีก 1% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขณะที่หากรัฐบาลยกเลิกการใช้นโยบายรถไฟฟรี จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 0.18% และหากยกเลิกนโยบายรถเมล์ฟรี ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 0.11% อย่างไรก็ดี หากในภาพรวมแล้วปีนี้รัฐบาลยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพทั้งในส่วนของดีเซล, รถเมล์-รถไฟฟรี รวมทั้งการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีกเดือนละ 50 สต./กก. ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับขึ้นราว 1.3-1.4% จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในภาพรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะไม่เกินที่ระดับ 4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ