ธปท.มองแนวโน้มเงินบาทยังเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง แม้หลายปัจจัยกดบาทอ่อนค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2014 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าว่าคงไปได้ 2 ทิศทาง ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้จะออกมาดีหรือไม่ดีกว่ากัน

สำหรับวันนี้ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมาที่ 32.94 บาท/ดอลลาร์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 ปี โดยมองว่ามาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยภายนอกประเทศจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC)เสร็จสิ้น มีการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเทียบสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลง และวันนี้ยังมีหลายตลาดยังไม่เปิดทำการ ทำให้เมื่อมีปัจจัยเข้ามากระทบจะมีความอ่อนไหวได้ง่าย

รวมถึงในเดือน ม.ค.นี้เป็นเดือนที่กองทุนต่างๆมีการปรับสัดส่วนการลงทุน หากมีการปรับไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งจะมีผลกระทบอย่างมาก โดยประเทศไทยก็ยังมีความน่าสนใจอยู่แต่เมื่อเทียบกับสหรัฐฯก็อาจจะมีความสนใจน้อยลง ประกอบกับเป็นเรื่องของปัจจัยการเมืองที่ยังกดดันอยู่ หากดูไปยังตลาดหุ้นไทยวันนี้มีการปรับตัวลงแรงกว่าหลายตลาด

โฆษก ธปท.กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า คงจะไม่ไปกดดันสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน เนื่องจากสัดส่วนสินค้านำเข้าในตะกร้าผู้บริโภคมีสัดส่วนประมาณ 20% จากสินค้าผู้บริโภคทั้งหมด ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของค่าไฟและราคาแก๊สหุงต้มหรือไม่นั้น นางรุ่ง กล่าวว่า หากมองในแง่ของดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ต้นทุนโดยรวมถือว่าเพิ่มไม่มากนัก แต่การที่ต้นทุนจะถูกส่งผ่านไปยังราคาของผู้บริโภคต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของผู้บริโภคด้วย ประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้

ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนมีการปรับตัวขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ควรพิจารณาประกอบกับ พฤติกรรมของผู้กู้และผู้ให้กู้ ซึ่งมองว่ามีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 56 เนื่องจากมีการระมัดระวังมากขึ้น

"ในภาพรวมยังเป็นสัญญาณที่ดี เพียงแต่ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมันเป็นช่วงของเศรษฐกิจชะลอตัว และอีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของรถคันแรกที่เกิดขึ้นมาในอดีต ที่สะท้อนกลับมา ซึ่งก็ไม่น่าเป็นกังวล ประกอบกับหนี้เสีย NPL ยังอยู่ในระดับที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งอยู่ที่ 2.3% จาก 2.2% โดยที่เพิ่มขึ้นมาจากตัวลิสซิ่ง ทั้งนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวโอกาสที่หนี้ต่อรายได้จะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้ รวมถึง NPL ด้วย ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายระมัดระวัง และแบงค์ก็มีกันสำรองไว้ เตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ"

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการชัตดาวน์กรุงเทพฯนั้น โฆษก ธปท.กล่าวว่า ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์หรือสถานที่ราชการ ได้มีการผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากพอสมควร เชื่อว่าหลายๆหน่วยงานมีศักยภาพในการดำเนินงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ