นอกจากนี้ การติดตามดูแลภาวะราคาสินค้าและภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่องของทางการ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่น่าจะสะท้อนภาพการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนนักในช่วงครึ่งแรกในปี 57 ก็น่าจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จำกัดกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนจากฝั่งผู้ประกอบการมาที่ทิศทางราคาสินค้าขั้นสุดท้ายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 57 จะมีโอกาสขยับสูงขึ้นกว่าระดับในปี 56 เล็กน้อย ซึ่งก็ทำให้ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลในขณะนี้หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้ทิศทางราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจมีผลกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังคงต้องระวังปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายที่อาจมีผลหนุนทิศทางเงินเฟ้อ อาทิ ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาท ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก หรือเงื่อนไขทางการเมืองที่อาจมีผลกระทบไปถึงความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงาน (เช่น ในกรณีที่กองทุนน้ำมันฯ ไม่มีเงินกองทุนเพียงพอในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG) เป็นต้น
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปี 57 จะยังคงมีลักษณะทยอยขยับขึ้นตามสถานการณ์ของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังน่าจะถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของภาคครัวเรือนในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 57" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยอาจทรงตัว-ขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นปี 57 แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป น่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.0 ในช่วงไตรมาสที่ 1/57 โดยปัจจัยที่อาจส่งผลหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภค ประกอบด้วย 1.ทิศทางเงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า (โดยถูกกดดันจากความตึงเครียดทางการเมืองและปัจจัยบวกของเงินดอลลาร์ฯ จากสัญญาณชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ซึ่งจะหนุนให้ราคาพลังงาน/วัตถุดิบและสินค้านำเข้าอื่นๆ ทรงตัวในระดับสูงกว่าในช่วงปลายปี 56
2.การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ตามแผนที่ได้วางไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับราคาก๊าซทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคขนส่งควบคู่กันไป โดยราคา LPG ภาคครัวเรือนจะทยอยขยับขึ้นต่อเนื่องอีก 0.50 บาท/กก./เดือนตั้งแต่เดือนม.ค.57 จนเข้าไปใกล้เคียงระดับราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และหลังจากนั้นจะขยับขึ้นพร้อมๆ กันไปราคาสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กก. ซึ่งน่าจะเป็นช่วงระหว่างเดือนมี.ค.ถึงราวเดือนส.ค.หรือก.ย.57
3.ค่าไฟฟ้า Ft ที่จะปรับเพิ่มในอัตรา 5 สตางค์/หน่วย ในงวดแรกเดือนม.ค.-เม.ย.57 และ 4.ฐานตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสแรกปี 2556