คลัง เผย S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2014 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยถึง ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard and Poor’s (S&P’s) ว่า S&P’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long-term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2 รวมทั้งได้ยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นอกจากนี้ ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale ระยะยาวที่ axAA และระยะสั้นที่ axA-1 ตามลำดับ และการประเมินการเคลื่อนย้ายและความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1 ยังอยู่ในระดับ A

ทั้งนี้ สถานะภาคต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง หนี้รัฐบาลที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และประวัติการดำเนินนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอย่างต่อเนื่องและการที่เศรษฐกิจมีรายได้ต่ำโดยเปรียบเทียบเป็นข้อจำกัดต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

โดยปัจจัยที่ยังคงเป็นจุดแข็งของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ สถานะการลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทยและสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่เพียงพอ การเกินดุลการชำระเงินเป็นเวลานานทำให้มีทุนสำรองสำหรับรองรับดุลบัญชีเดินสะพัดได้ 7.5 เดือน และแม้ว่า S&P’s คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่จะสามารถชดเชยการขาดดุลดังกล่าวได้โดยอาศัยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดทุน ทำให้หนี้ต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 26 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งเกือบร้อยละ 70 มาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในหลักทรัพย์ และประเทศไทยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้สุทธิในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของรายรับบัญชีเดินสะพัดตามนิยามหนี้ต่างประเทศสุทธิอย่างแคบ

การเกินดุลขั้นต้นของรัฐบาลช่วยรักษาระดับหนี้ของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่เป็นผลจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจทำให้หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น S&P’s ยังคาดว่า หนี้ของรัฐบาลสุทธิจะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลที่ประมาณร้อยละ 26 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของรายได้ของรัฐบาลกลางได้ก่อให้เกิดภาระเพียงเล็กน้อยต่อการคลังภาครัฐ

อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพเป็นเสาหลักที่สำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าร้อยละ 3 ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เสถียรภาพทางด้านราคาและการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ การเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง โดยสินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 130 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2556 จากร้อยละ 102 ในปี 25502

S&P’s คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของไทยในปี 2556 ไว้ที่ 6,200 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับรายได้นี้นับเป็นข้อจำกัดของความน่าเชื่อถือของประเทศเช่นเดียวกับตัวชี้วัดทางด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข และการศึกษาที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า

ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นจุดอ่อนหลักของความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างต้องล่าช้าออกไป รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ความไม่แน่นอนดังกล่าวเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่การชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

S&P’s ประเมินความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้สกุลเงินบาทของประเทศไทยสูงกว่าสกุลเงินตราต่างประเทศ 1 ระดับ ที่ระดับ A- ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวของประเทศไทยสนับสนุนต่อความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ และความลึกของตลาดทุนในประเทศช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ความมั่นคงของสถานะการคลังช่วยให้มีช่องทางในการตอบสนองเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่คาดคิดได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือ

แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ ภาคการคลัง และภาคการเงินภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันไว้ได้ใน 2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ถ้าความสามารถในการปกครองประเทศ (เสถียรภาพทางด้านการเมืองและสถาบัน) ถดถอยลงไปมากกว่าที่ S&P’s สังเกตการณ์ไว้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หรือหากตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจหรือการคลังอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันหากผู้นำทางการเมืองของประเทศไทยทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขี้น S&P’s เชื่อว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นและส่งผลให้สถานะความน่าเชื่อถือของประเทศแข็งแกร่งขึ้นตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ