(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ ห่วงศก.ปีนี้โตแค่ 3-3.5% จากคาดเดิม 4-5% หากการเมืองทำสะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2014 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงและบานปลายจนกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทและโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็อาจจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้เติยโตเพียงแค่ 3-3.5% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4-5%

"3% เป็นการประเมินจากการที่ใช้เงินโครงการ 2 ล้านล้านบาทไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถอนุมัติตามแผนงานโครงการน้ำได้ แต่ถ้าหากเป็นไปตามแผนงาน GDP ก็จะอยู่ที่ 4-5% แต่ถ้าไม่ได้ก็เหลือ 3%"นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ประเมินว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจยังอยู่ภายใต้พื้นฐานที่สามารถจัดการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นห่วงภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน รวมถึงการจ้างงานที่เกรงว่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ที่ประชุมไม่ได้มีการประเมินเฉพาะถึงการที่กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) จะมีการชัตดาวน์กทม.ในวันที่ 13 ม.ค.เท่านั้น แต่เป็นการประเมินโดยภาพรวมทั้งหมด

นอกจากนี้ ในส่วนของการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านส่งออก ท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในประเทศ โดยในเดือนพ.ย.-ธ.ค. ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจก็ถือว่าลดลง ซึ่งก็กระทบต่อการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออกด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานต่อที่ประชุมครม.ฝ่ายเศรษฐกิจว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 (ต.ค.-ธ.ค.56)หน่วยงานภาครัฐได้เบิกจ่ายงบประมาณไปราว 8.3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นต่ำกว่าราว 20%

พร้อมกันนั้น สภาพัฒน์ยังรายงานสรุปตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 56 อยู่ที่ 2.2% ถือว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่วนยอดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 26.7 ล้านคน สูงกว่าที่คาดไว้ในระดับ 26.2 ล้านคน ส่วนค่าเงินบาท ปี 56 อยู่ที่ 30.73 บาท/ดอลลาร์ ยังถือว่าแข็งค่ากว่าปี 55 เพราะต้นปี 56 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากโดยอยู่ที่ 29 บาทกว่า/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องของค่าเงิน ยังจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ