ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมจะถดถอยจากความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ การส่งออกจะไม่โต ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าจะช่วยผู้ส่งออกได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้นำเข้าสินค้าจะแพงขึ้นโดยเฉพาะค่าพลังงาน สิ่งที่จะตามมาคืออีก 2-3 เดือนต้นทุนด้านพลังงานของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น
"ทุกฝ่ายอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข อยากเห็นนักการเมืองทุกพรรคพยายามที่จะพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงบ้านเมืองเป็นหลัก ซึ่งภาคเอกชนจะยังคงมีการพูดคุยหารือกันอย่างต่อเนื่อง" นายอิสระ กล่าว
นายอิสระ กล่าวต่อว่า มาตรการที่ต้องดำเนินการในการดูแลตัวเอง เพื่อเร่งดูแลเศรษฐกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ต้องพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หาตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาด CLMV ซึ่งสามารถเร่งดำเนินการได้ทันที จัดกิจกรรมเช่น Trade Fair ตามด่านชายแดนอย่างต่อเนื่อง
2.การผลิต ดูแลห่วงโซ่ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การพัฒนาต่อเนื่องทุกห่วงโซ่ซึ่งสภาอุตสาหกรรมมีคลัสเตอร์ของแต่ละกลุ่มช่วยดูแลอยู่ ให้คนที่เก่งในแต่ละ Sector มานำทางคนที่ด้อยกว่า
3.พัฒนาโลจิสติกส์ ซึ่งรวมทั้งการขนส่งและการบรรจุหีบห่อ ซึ่ง กกร.มีคณะกรรมการโลจิสติกส์ดูแลอยู่แล้ว แต่ละองค์กรก็ต้องไปดูว่าจะทำยังไงให้ด้านโลจิสติกส์ดีขึ้น
4.พัฒนาด้านการสื่อสาร เพราะปัจจุบันการใช้ไอทีสื่อสารกันระหว่างหน่วยงานค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการสื่อสารด้วยการส่งเอกสาร ต้องไปพัฒนาการทำงานด้านนี้เพื่อให้เสียเวลาน้อยลง
5. ด้านการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเรามีคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว ทั้งหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แต่ช่วงนี้อาจจะต้องมีการทำข้อมูลเพื่อสื่อถึงสมาชิก SME ให้ทราบวิธีบริหารธุรกิจ เช่น ทำ Hedging, Credit Assurance อะไรที่ธนาคารสามารถเสนอตัวช่วยเหลือผู้ประกอบการในแต่ละ Sector ต้องการก็ยินดี
"ช่วงนี้ต้องทำอะไรที่เป็น Quick Win เพื่อรักษาตัวให้ได้ ระยะยาวก็ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในระยะยาว"นายอิสระ กล่าว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การให้บริการของกลุ่มสมาชิกฯ เป็นไปตามปกติ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดกรุงเทพ โดยสมาชิกสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมสำรองเงินสดไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ