"ที่ผ่านมาต้องขอโทษเกษตรกรที่การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความล่าช้าและติดขัดไปบ้าง เนื่องจากคลังโดนปิดล้อมนานกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากกลับมาปฏิบัติงานได้ก็ได้เร่งรัดให้มีการจ่ายเงินตามใบประทวนที่คงค้าง"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าสภาพคล่องมีเพียงพอต่อการดำเนินโครงการรับจำนำ เนื่องจากมีวงเงินกู้เหลือจากโครงการรับจำนำรอบก่อนหน้า ราว 4 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง ธ.ก.ส.ยังสามารถนำสภาพคล่องส่วนเกินมาใช้รองรับการดำเนินโครงการได้ระหว่างที่รอเงินระบายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 56/57 ก็จะหยุดการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปีการผลิต 57 เนื่องจากต้องให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่
นายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้รายงานให้ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 56/57 มีการใช้เงินทุนหมุนเวียนในโครงการไม่เกินกรอบ 2.7 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลได้มีการกำหนดเงื่อนไขการรับจำนำไว้ไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อราย ทำให้คาดว่าจะมีข้าวเข้าโครงการลดลงเหลือ 14 ล้านตัน จากเป้าหมาย 16.5 ล้านตัน โดยปัจจุบันมีข้าวเข้าโครงการแล้ว 9 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงก่อนสิ้นปี 56 ธ.ก.ส.ได้จัดทำแผนการจ่ายเงินค่าข้าวให้กับเกษตรกรไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการทยอยจ่ายเงินให้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถจ่ายเงินค่าข้าวให้แก่เกษตรที่นำข้าวมาจำนำไว้ ในโครงการรับจำนำข้านาปี 56/57 ได้ภายใน 15 ม.ค.นี้
"ชาวนาที่รอการจ่ายเงินมา 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ จะได้รับเงินภายในม.ค.โดยจะพยายามจ่ายให้จบภายใน 15 ม.ค.ขณะนี้ยังมีข้าวเข้ามารับจำนำเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนที่มาจำนำไว้ทีหลังจะได้เงินภายหลัง แต่คนที่มาเข้าโครงการไว้ก่อนปีใหม่ เชื่อว่าไม่เกิน 15 ม.ค. จะได้รับเงินทั้งหมด"นายวราเทพ กล่าว