อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/57 ยังคงแย่อยู่ โดยคาดว่าจะติดลบระหว่าง 1.5-1.9% หรือมีมูลค่าประมาณ 55,889-57,827 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 นับจากไตรมาส 2/56
นายอัทธ์ ยังมองว่ามีโอกาสอีก 30% ที่มูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 5.6% ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเต็มที่ ค่าเงินบาทเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 2/57 และปัญหาการเมืองสามารถสิ้นสุดได้ในช่วงเดียวกัน ขณะที่มีโอกาสอีกเพียง 20% เท่านั้นที่จะขยายตัวได้ 2.06% ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวเหมือนปีที่ผ่านมา
สำหรับปี 56 การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 0.25% หรือมีมูลค่าประมาณ 228,663 ล้านเหรียญสหรัฐ
“เชื่อว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะเริ่มเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 แต่สุดท้ายแล้ว จะขยายตัวได้เท่าไหร่ คงต้องมาลุ้นดูอีกทีว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีแค่ไหน ซึ่งการประเมินการขยายตัวของภาคส่งออกปีนี้ได้มองรวมถึงปัจจัยทางการเมืองแล้ว โดยมองว่าปัญหาการเมืองน่าจะจบได้แล้ว และไม่น่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 2 เพราะแค่ลากยาวถึงไตรมาสแรกปีนี้ก็กินเวลาเข้าไป 6 เดือนแล้ว" นายอัทธ์ กล่าว
ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยหนุนให้กับการส่งออกไทยมากนัก เพราะเป็นการอ่อนค่าตามภูมิภาค และค่าเงินของคู่แข่งบางประเทศอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท โดยประเมินว่าปี 57 ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.07-34.24 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 33.16 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลง 7.90% จากปีที่ผ่านมา หรืออ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะอ่อนค่าลงมาอยู่ในช่วง 32.95-35.35 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 34.15 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และมีโอกาสลงไปแตะที่ระดับ 35 บาท/เหรียญสหรัฐได้