สภาที่ปรึกษาฯ มองปี 57 ไทยเผชิญ 3 ปัญหา การเมือง-ศก.โลก-ค่าเงินผันผวน, Q1/57 มีโอกาสติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 10, 2014 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังรัฐบาลใหม่ และข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปี 2557 จากวิกฤติการเมืองในประเทศ" โดยประเมินปัจจัยซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปัญหาการเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจากการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่ประกาศปิดกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นการปิดพื้นที่เศรษฐกิจในหลายพื้นที่เพื่อกดดันไม่ให้มีการเลือกตั้ง และปฏิรูปประเทศ
"น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 อาจถึงขั้นติดลบประมาณ 1.5-1.9% ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมือง" นายธนิต กล่าว

กรณีที่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และจัดตั้งรัฐบาลได้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกอาจติดลบ เนื่องจากเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการเกิดสุญญากาศ ซึ่งไม่สามารถผลักดันและขับเคลื่อนนโบาย โดยศูนย์วิจัยหอการค่าไทยประเมินว่า อาจทำให้ไตรมาสแรกอาจติดลบ 1.5-1.9% และส่งผลต่อการลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย และการลงทุนภาครัฐทั้งปีอาจขยายตัวเพียง 10% จากที่ประเมินไว้ 12% แต่หากสามารถจัดการเลือกตั้งได้แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี และอาจทำให้จีดีพีโตไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 3.5-4% และจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนซึ่งอาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 5% 1แต่หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักบงทุนและกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 28-30 ล้านคน

2.ปัจจัยจากเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ซึ่งไอเอ็มเอฟคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งส่งผลทางบวกต่อการส่งออกของไทย แต่จากปัญหาทางการเมืองในประเทศจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่อาจกระจายความเสี่ยงไปสั่งสินค้าจากประเทศคู่แข่ง รวมถึงต้นทุนการส่งออกสินค้าบางประเภทของไทยยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้ไทยเสียโอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ และการส่งออกของไทยในปี 2557 จะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นสำคัญและจำเป็นต้องพึ่งพิงมาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งด้านการส่งออกอาจขยายตัวได้ประมาณ 4-5% จากเป้าที่วางไว้ 7% แต่ในไตรมาสแรกการขยายตัวด้านส่งออกอาจยังไม่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าอยู่ช่วงระหว่างการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ส่วนดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม มีแนสโน้วขยายตัว จากการส่งออกภาคอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัวได้ 8.0% จากที่ขยายตัวได้ 1.0% ในปี 2556 ส่งผลให้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยได้ 65% จากที่ขยายตัวได้ 63% ในปี 2556

และ 3.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ในระยะสั้นจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่การอ่อนค่าของค่าเงินบาทสอดคล้องกับการอ่อนค่าของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคบางประเทศ ซึ่งไม่ได้สร้างความได้เปรียบด้านการส่งออกของไทยมากนัก แต่จะส่งผลลบต่อการบริโภคในประเทศ เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ทำให้ต้องชำระเป็นเงินบาทในอัตราที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 5% โดยเฉพาะเขื้อเพลิง มีสัดส่วนนำเข้าถึง 20.51% ทำให้ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายใน ซึ่งคาดว่าขยายตัวได้เพียง 2.5% หรือต่ำกว่า จากที่ขยายตัวได้ 0.8% ในปี 2556

สำหรับประเด็นที่ภาคเศรษฐกิจคาดหวังจะเห็นในปี 2557 นายธนิต เปิดเผยว่า ด้านการเมือง รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ชัดเจน และไม่ออกกฏหมายที่นำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชน ส่วนด่านเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการส่งออก โดยการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนการส่งออก ต้องมีมาตรการกู้ภาพลักษณ์จากนักท่องเที่ยวจากผลกระทบทางการเมือง รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ มีการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีการทบทวนนโยบายบิดเบือนราคาสินค้า โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและไม่ควรนำนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเพราะจะกระทบต่อต้นทุนภาคเอกชน รวมไปถึงเร่งแก้ไขหนี้สินครัวเรือนที่ส่งผลต่อการบริโภคภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน

นายธนิต ระบุว่า แนวทางที่ภาคเศรษฐกิจคาดหวังจะเห็นในปี 2557 จะมีการจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์แล้วจะมีการส่งแนวทางทั้งหมดให้กับทุกพรรคการเมือง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยยืนยันว่า ทุกแนวทางไม่ได้มีการเชื่อมโยงทางการเมืองแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ