"กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมบริษัทเอกชนเดินหน้าโครงการนำร่องส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด หรือ Thailand Demand Response เพื่อทดสอบความพร้อมของกลไกบริหารการลดใช้ไฟฟ้าระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2557 ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาใช้ไฟสูงสุด(Peak Period) สูงถึง 100 เมกะวัตต์" นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ.กล่าว
สำหรับโครงการ Thailand Demand Response เป็นโครงการนำร่องระยะสั้นเพื่อนำผลทดสอบที่ได้มาเตรียมรับมือวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจากกรณีนี้ กกพ.ได้ผลักดันให้มีโครงการรับมือวิกฤตไฟฟ้าแบบถาวร คือโครงการ Critical Peak Pricing (CPP) ซึ่งจะเริ่มทดสอบในช่วงที่แหล่งก๊าซบงกช ในอ่าวไทยจะหยุดซ่อมในเดือน เม.ย. และเจดีเอในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ โดย กกพ.ตั้งเป้าว่า CPP จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการ CPP แบบถาวรนี้ ถือเป็นเครื่องมือใหม่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ
นายดิเรก กล่าวว่า โครงการฯ ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการเข้าร่วมในระดับที่น่าพอใจ โดยมีผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือแล้ว 10 ราย รวมจำนวนกว่า 350 มิเตอร์ ประกอบด้วย บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม บริษัท เหล็กสยาม(2001) บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เทสโก้ โลตัส สยามพิวรรธน์ เซ็นทรัลพัฒนา สยามแม็คโคร บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สยามพารากอน และปูนซีเมนต์เอเชีย คิดเป็นการลดการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์
"เป้าหมายในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ คือ การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 200 เมกะวัตต์ ด้วยเทคโนโลยี Demand Response ซึ่งหากสามารถลดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ประหยัดการใช้น้ำมันเตาได้ถึง 25.2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงค่า Ft ในงวดถัดไปจะลดลงได้ประมาณ 0.05 สตางค์ต่อหน่วย และที่สำคัญก็คือ การทดสอบการประมวลผลของระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติ Automated Meter Reading (AMR) รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาแนวทางกำหนดบทบาท Load Aggregators และการสร้างตลาดซื้อขายการประหยัดไฟฟ้า Demand Bidding สำหรับประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย" นายดิเรก กล่าว