"ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25 เป็นอัตราที่เหมาะสม สำหรับสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่มองว่า กนง.น่าจะพิจารณาคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากหากลองพิจารณาบริบทเทียบกันของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันกับในช่วงปี 2553 จะพบว่า ในมิติความรุนแรงทางการเมืองนั้น สถานการณ์ในช่วง 3 ปีก่อนมีความรุนแรงกว่ามาก กล่าวคือ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่พัฒนารุนแรงไปถึงจุดนั้น
สำหรับมิติทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ในช่วงครึ่งแรกของปี 53 กนง.ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย แต่ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายใดๆ หากมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเมืองต่อเศรษฐกิจ โดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศแม้อยู่ระดับต่ำ(น้อยกว่าร้อยละ 1) แต่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับภาวะแวดล้อมในช่วงดังกล่าวอยู่มาก
ด้านการส่งออกซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายในยามที่เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอ แม้อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากฐานการคำนวณที่กลับมาปกติ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก ส่วนหนึ่งจะช่วยผู้ประกอบการส่งออกในแง่ของรายได้รูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกจะช่วยลดทอนความรุนแรงของผลทางการเมืองลงได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ทำให้การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน รวมถึงการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่สดใส ส่งผลให้เครื่องยนต์ภาคการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 เรื่อยไปจนถึงสิ้นปี
ส่วนการตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจของ กนง.โดยการหั่นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จะเริ่มส่งผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงอย่างช้าๆ โดยมาตรการดังกล่าวจะเห็นผลเต็มที่ในไตรมาส 2 ของปีนี้
"ดังนั้นทางเราจึงเชื่อว่า กนง.จะยังเก็บเครื่องมือไว้จนกว่าภาพเศรษฐกิจจะชัดเจนกว่านี้ โดยคาดว่า กนง.จะรอพิจารณาถึงสถานการณ์หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.และรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาศ 4 ของปีที่แล้ว ที่จะถูกประกาศในวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งข้อมูล 2 ชุดนี้จะช่วยประเมินเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคลุมเครือในปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ