ลุ้น กนง.นัดแรกปี 57 หั่นดอกเบี้ยสู้ปัจจัยลบ ด้านฝ่ายวิจัยแบงก์มองต่างอาจเก็บกระสุนไว้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2014 09:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ(KGI) ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 22 ม.ค.นี้ ที่ประชุมกนง.อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% โดยเหตุผลที่มองว่า กนง.มีโอกาสจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่าการเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจจะมีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้ลงจากในการประชุม กนง.เมื่อเดือนพ.ย.56 ด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่จะทำให้ กนง.ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 เกิดขึ้นได้หรือไม่, บรรยกาศทางการเมืองจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่, รัฐบาลจะรักษาการณ์ไปอีกนานเท่าใด ตลอดจนการสรุปตัวเลขเศรษฐกิจของปี 56 ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มอาจจะออกมาไม่ค่อยดีนัก ทั้งตัวเลข GDP, การส่งออก เป็นต้น

"ถ้า กนง.รอบนี้ไม่ลด ก็คงจะไปลดในการประชุมเดือนมี.ค.เพราะสถานการณ์ในช่วงนี้ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.การเลือกตั้งทั่วประเทศวันที่ 2 ก.พ.จะมีขึ้นได้หรือไม่ หรือจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรงอะไรหรือไม่ รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะทยอยออกมา เช่น GDP จากสภาพัฒน์ ตัวเลขการส่งออกสรุปทั้งปี 56 เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบทั้งสิ้น"นายปรากรม กล่าว

พร้อมมองว่า หากการประชุม กนง.รอบนี้(22 ม.ค.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะยิ่งเห็นโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงได้อีกครั้งในการประชุม กนง.ครั้งถัดไป(12 มี.ค. และ 23 เม.ย.) ซึ่งทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปอยู่ที่ระดับ 1.75% และสอดคล้องกับที่ บล.เคจีไอ เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าสู่ช่วงขาลงนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในเดือนต.ค.54 เป็นต้นมา

"เมื่อการประชุม กนง.ในเดือนม.ค.ลดดอกเบี้ยแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้นไปยังอาจจะแย่ลงต่อได้ เพราะฉะนั้น การลดดอกเบี้ยในเดือนม.ค.เหลือ 2% เร็ว ก็จะมีการลดดอกเบี้ยตามมาอีก ไม่เดือนมี.ค. ก็เดือนเม.ย. อาจจะลงมาอยู่ที่ 1.75%" นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ กล่าว

โดยประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงทรงตัวไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.75% และไม่น่าจะลงไปถึง 1.50% ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยไม่มีการถดถอยลงไปมากเหมือนเช่นในปี 40

นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ ประเมินว่าในปี 56 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้เพียง 2.8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 3% โดยให้กรอบไว้ที่ 2.2-3.0% อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 ก.พ.57 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) จะประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(GDP) อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งล่าสุด(18 พ.ย.56) สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะเติบโตได้ 3.0% ส่วนปี 57 คาดว่าจะเติบโตได้ 4.0-5.0%

*TMB-KBANK มองกนง.คงดอกเบี้ย ชี้อัตรา 2.25% ยังเหมาะกับศก.ปัจจุบัน

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(TMB Analytics) ประเมินว่า ในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปีที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ม.ค.นี้ กนง.จะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% เพราะถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

โดยยังคงมุมมองที่ว่าจริงอยู่ที่ภาพความไม่สงบทางการเมืองจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดูไม่ค่อยสวยนัก แต่การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า อาจยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมของผู้บริโภคและธุรกิจเอกชน

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่มองว่า กนง.น่าจะพิจารณาคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากหากลองพิจารณาบริบทเทียบกันของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันกับในช่วงปี 2553 จะพบว่า ในมิติความรุนแรงทางการเมืองนั้น สถานการณ์ในช่วง 3 ปีก่อนมีความรุนแรงกว่ามาก กล่าวคือ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่พัฒนารุนแรงไปถึงจุดนั้น

ส่วนการตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจของ กนง.โดยการหั่นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จะเริ่มส่งผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงอย่างช้าๆ โดยมาตรการดังกล่าวจะเห็นผลเต็มที่ในไตรมาส 2 ของปีนี้

"ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า กนง.จะยังเก็บเครื่องมือไว้จนกว่าภาพเศรษฐกิจจะชัดเจนกว่านี้ โดยคาดว่า กนง.จะรอพิจารณาถึงสถานการณ์หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.และรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ของปีที่แล้วที่จะถูกประกาศในวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งข้อมูล 2 ชุดนี้จะช่วยประเมินเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคลุมเครือในปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า แม้ปัจจุบันนักวิเคราะห์และความเคลื่อนไหวในตลาดการเงิน จะสะท้อนถึงความโน้มเอียงของการคาดการณ์ไปยังโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่เพิ่มขึ้นในการประชุมรอบนี้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ กนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ก่อนเช่นกัน เพื่อรอประเมินภาพจาก 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรกเหตุการณ์ทางการเมือง ส่วนที่สอง ข้อมูลเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกประจำเดือนธ.ค.56 และม.ค.57 ซึ่งมีกำหนดการรายงานในช่วงปลายเดือนม.ค.และ ก.พ.57 ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปี 56 ของสภาพัฒน์ซึ่งมีกำหนดการรายงานในวันที่ 17 ก.พ.57 อันน่าจะทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายในระยะถัดไปมีข้อมูลที่มีความครบถ้วนและสมบูรณ์มากขึ้น

"โอกาสที่ กนง.อาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนยังมีน้ำหนักมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจาก กนง.ยังสามารถรอข้อมูลเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะตัวเลขส่งออก รวมถึงพัฒนาการของเหตุการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นได้อีกระยะ ก่อนที่จะประกาศท่าทีเชิงนโยบาย"เอกสารเผยแพร่ ระบ

ทั้งนี้ ถ้าปรากฏว่าตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวที่ประกาศออกมาแย่ลง หรือสถานการณ์การเมืองทวีความวิกฤตมากขึ้น กนง.ก็สามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ไปจนถึงการดำเนินมาตรการเสริมอื่นๆ ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 12 มีนาคม 2557 หรือแม้กระทั่งการประชุมนอกรอบที่เร็วกว่านั้น ตามระดับความเร่งด่วนและรุนแรงของปัญหา ท่ามกลางภาวะที่เครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ดูเสมือนจะเป็นความหวังเดียวของทางการไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ