นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.90/92 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์ หลังจากวานนี้(21 ม.ค.) รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลา 60 วัน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ, จ.นนทบุรี, อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
"บาทอ่อนค่าหลังมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเมื่อคืนขึ้นไปทำไฮที่ 32.94/95(บาท/ดอลลาร์)" นักบริหารเงิน กล่าว
ตลาดจับตาดูท่าทีรัฐบาลหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่ นอกจากนี้ยังรอดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ด้วย
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.80-33.00 บาท/ดอลลาร์
"ต้องจับตาดูว่า กนง.มี surprise มากๆ หรือไม่ เช่น ถ้าปรับลดลงก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงไปได้อีก" นักบริหารเงิน กล่าว
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 104.66 เยน/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 104.53 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3536 ดอลลาร์/ยูโร อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3543 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 32.8200 บาท/ดอลลาร์
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2557 เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงเป็นวันที่ 22 มกราคมนี้ เวลา 14.00 น. โดยจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าใหม่อีกครั้ง จากปัจจุบันคาดว่าจะเติบโต 4% หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ยังมีการชุมนุมทางการเมือง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กดประมาณการจีดีพีเหลือ 3% มีกรอบอยู่ที่ 2.2-3.7% หลังสถานการณ์การเมืองตึงเครียดขึ้น-จบยาก และพึ่งพาส่งออกขับเคลื่อนเป็นหลัก
- นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 60 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.เป็นต้นไปนั้น จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยบ้าง เพราะนักลงทุนจะไม่เชื่อมั่นมากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเสี่ยง เพราะหากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วทุกอย่างจบ เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้เร็ว แต่หากไม่จบเศรษฐกิจจะแย่ลงไปกว่าเดิมอีก
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมปรับกลยุทธ์การทำตลาดด้านโฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติมขึ้นมาจากแผนเดิม เบื้องต้นจะให้สำนักงาน ททท.ในต่างประเทศทั้ง 27 แห่งและ ททท.ทั้ง 4 ภูมิภาคในประเทศ เป็นผู้จัดทำโฆษณาเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวเองไม่ต้องรอการตัดสินใจจาก ททท. สำนักงานใหญ่ เนื่องจากมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของตลาดที่ตนเองดูแลอยู่ได้ดีกว่า
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 58 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 11,560 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,250.47 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 6.27 ดอลลาร์สหรัฐ
- China Foreign Exchange Trading System(CFETS) รายงานว่า เงินหยวนอ่อนค่าลง 0.21% แตะที่ 6.1087 หยวนต่อดอลลาร์เช้าวันนี้
- กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประณามการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและเคารพหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทางการไทยสืบสวนเหตุโจมตีที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต และนำตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงมาดำเนินคดี
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) โดยตลาดเคลื่อนตัวในกรอบแคบๆและผันผวน เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตามตลาดได้รับแรงหนุนในช่วงแรกจากข่าวธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในระบบ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,414.44 จุด ลดลง 44.12 จุด หรือ -0.27%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,225.76 จุด เพิ่มขึ้น 28.18 จุด หรือ +0.67%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,843.80 จุด เพิ่มขึ้น 5.10 จุด หรือ +0.28%,
- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ หลังจากราคาสินแร่เหล็กปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน โดยดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,834.26 จุด ลดลง 2.47 จุด หรือ -0.04%
- ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และข่าวธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในระบบ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำ ซึ่งปัจจัยส่งผลให้ความน่าดึงดูดใจของทองคำลดน้อยลง โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ.ร่วงลง 10.1 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 1,241.8 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน มี.ค.ลดลง 43.4 เซนต์ ปิดที่ 19.870 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน เม.ย.ลดลง 60 เซนต์ ปิดที่ 1,453.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน มี.ค.ลดลง 50 เซนต์ ปิดที่ 748.05 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กบวกเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) ขานรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และสำนักงานพลังงานสากล(IEA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ.ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 94.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์(BRENT) ส่งมอบเดือน ก.พ.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 0.4% ปิดที่ 106.73 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(21 ม.ค.) หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 104.26 เยน จากระดับ 104.32 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9102 ฟรังค์ จากระดับ 0.9113 ฟรังค์ ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3562 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3529 ดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.6482 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6420 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.8803 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8771 ดอลลาร์สหรัฐ