ภาคเอกชนชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบภาพลักษณ์-ยอดนักท่องเที่ยวหด, GDP เหลือโต 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2014 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลา 60 วัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ขณะนี้คงยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเพิ่งเริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นวันแรก แต่เชื่อว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาต่างชาติ รวมทั้งกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยให้ลดลง เพราะขณะนี้สถานทูตต่างๆ เริ่มออกคำเตือนไปยังนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทยกันมากขึ้น ส่วนในระยะยาวคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอย่างแน่นอน
"สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือผลกระทบต่อภาพลักษณ์สายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งคำเตือนของสถานทูตต่างๆ ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในทันที ส่วนระยะยาวนั้นอาจทำให้การลงทุนใหม่ๆ ต้องชะลอออกไป" นายอิสระ กล่าว

โดยขณะนี้หอการค้าไทยได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ไว้ที่ 3-4% จากที่มองว่าเศรษฐกิจไทยควรจะเติบโตได้ 4-5% ขณะที่คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะโตได้ราว 3-4% โดยคาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อนั้นอยู่ประมาณวันละ 500-700 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ปลายปี 56 หลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภา และเป็นรัฐบาลรักษาการจึงทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างเต็มที่

"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปี จากที่เศรษฐกิจควรจะโตได้ 4-5% แต่พบว่าการขับเคลื่อนของรัฐบาลทำได้ไม่มาก และผลประกอบการของภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยคงโตได้ราว 3-4% จากที่น่าจะโตได้ 5%" นายอิสระ กล่าว

ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีนี้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการค้าชายแดนน่าจะเริ่มเห็นโอกาสที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่อ่อนค่าจากปีก่อน ขณะเดียวกันหอการค้าไทยมีความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยยังหวังให้ต่างฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งได้หันหน้ามาเจรจากัน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาคเอกชนในนามของ 7 องค์กรภาคเอกชนจะขอยุติบทบาทชั่วคราวในการทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะประสานงานระหว่ารัฐบาล, กลุ่ม กปปส. และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งเวทีปฏิรูปประเทศ เนื่องจากมองว่าข้อเสนอของภาคเอกชนที่ผ่านมาไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากรัฐบาลและ กปปส. ดังนั้นภาคเอกชนจึงขอกลับมาทำบทบาทอย่างเต็มที่ในเรื่องของการดูแลเศรษฐกิจและภาคธุรกิจแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ