ทั้งนี้เห็นว่า SMEs ของไทย จำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจของตนผ่านพ้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ภาระต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นด้านค่าแรง หรือค่าขนส่ง การแข่งขันจากผู้ค้ารายใหญ่ทั้งภายในหรือจากต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อันมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้ สิ่งสำคัญที่ SMEs ต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก และตลาดเพื่อนบ้าน เนื่องจากพบว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งปัญหาต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น SMEs ใช้งบประมาณและให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยในกิจกรรมที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้ หรือลดต้นทุน เช่น การทำกิจกรรมด้านการตลาด การพัฒนาทรัพยากรบุคลากร/องค์กร การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำธุรกิจ
ดังนั้น สภาหอการค้าฯ เห็นว่า SMEs ควรมีการวิเคราะห์แผนการทำงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทั้งด้าน Productivity ควรมีการใช้ Technology มาทดแทนเพิ่มเพื่อลดต้นทุน ในส่วนของด้านการเงิน ควรส่งเสริมให้ SMEs มีการจ่ายภาษีที่อยู่ในระบบมากขึ้น มีการทำบัญชีที่ถูกต้องเพื่อทำให้การกู้ยืมจากธนาคารง่ายขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่อง Innovation ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว อาจเพียงแค่การเปลี่ยน Mindset หรือการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น สภาหอการค้าฯ ยังมีแผนที่จะส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะนำภาคธุรกิจไปในประเทศที่น่าสนใจทั้งประเทศชายแดน และประเทศที่มีศักยภาพ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยเราจะขอความร่วมมือให้บริษัทที่เป็นสมาชิกของเรา ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในประเทศเหล่านั้น มาให้คำแนะนำแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะเน้นการทำงานเป็น Supply Chain ช่วยกันเป็นทีม ให้บริษัทใหญ่ดึงบริษัท SMEs ใน Chain ไปขยายในต่างประเทศด้วยกัน ซึ่งการแข่งขันในภูมิภาคต่อจากนี้จะมีมากขึ้น ประเทศไทยคงต้องตื่นตัวมากกว่านี้ ในการค้าขายและลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การที่ SMEs ไทยจะไปแข่งขันได้ ก็จะต้องมีการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถให้เข้มแข็งในอีกหลายด้าน
ส่วนกิจกรรมการช่วยเหลือ SMEs ของสภาหอการค้าฯภายในเดือนม.ค.นี้ ยังมีอีก 2 กิจกรรม ได้แก่ การจัดสัมมนา “SMEs…วิธีทำเงิน" เพื่อกระตุ้นให้ SMEs ทั่วประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและหาทางแก้ไข เพื่อรองรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคต
โดยที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการจัดร่วมกับหอการค้าจังหวัดกลุ่มอิสานตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ)
"ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ เราคงจะต้องพึ่งพาตัวเราเองให้มากที่สุด เพราะเรื่องของเศรษฐกิจหรือการดำเนินธุรกิจนั้นไม่สามารถหยุดได้ โดยในสัปดาห์นี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะมีหนังสือสอบถามไปยังสมาชิกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้ง หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และสมาคมการค้าต่าง ๆ ว่าต้องการให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหามาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อที่จะนำผลที่ได้รับมาเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป" นายกลินท์ กล่าว