นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะประธาน กนง.แถลงว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในสภาวะที่สถานการณ์การเมืองและผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ประกอบกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อวางพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
"ส่วนหนึ่งยอมรับว่าการตัดสินใจคงดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นในระยะข้างหน้า โดยกนง.พยายามพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ รอบด้าน ขณะที่ดูว่าเครื่องมือใดควรจะใช้ในจังหวะเวลาใด เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.25% ยังหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี แต่หากเหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงและมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดประสิทธิผล กนง.ก็พร้อมพิจารณาปรับใช้ตามสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่จเป็นต้องเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง และจำเป็นที่ กนง.ต้องประชุมด่วนก็จะดำเนินการทันที"นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.เสียงข้างมากที่เห็นควรให้คงดอกเบี้ย 2.25% ต่อปีนั้น ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แม้ว่าเงินบาทจะถอ่อนค่าลงแต่ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกันตลอดเวลา แต่ยังปรับตัวในระดับที่มีเสถียรภาพ ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ถือไว้เป็นดอลลาร์ออกไปประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเวลาทอนสินทรัพย์ต่างประเทศให้อยู่ในรูปดอลลาร์ เงินทุนสำรองในรูปของดอลลาร์ก็ลดลง เป็นเรื่องทางบัญชี ซึ่งหากเทียบปริมาณเงินที่ไหลออกและเงินไหลเข้ามาในช่วงก่อนหน้านี้ ถือว่าไม่ใช่ตัวเลขที่ใหญ่จนเกินไป ขณะเดียวกันเงินเฟ้อ ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็ง
"โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์ทางการเมือง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดอัตราดอกเบี้ย และตลาดตราสารหนี้ย้งทำงานด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีอะไรที่น่าตกใจ ซึ่งส่วนหนึ่งที่เงินไหลออกมีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ"นายประสาร กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า กนง.เห็นว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะมีรประสิทธิผลเพื่อใช้ในการดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนการบริโภคที่ชะลอลงโดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากเศรษฐกิจ ดังนั้น หากลดดอกเบี้ยเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองนั้น เสียงข้างมากก็มองว่าจะไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก และเชื่อว่าการเมืองเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น ส่วนพื้นฐานเศรษฐกิจต้องมองในระยะยาวกว่า
"ไม่อยากให้เข้าใจว่าเราไม่แยแสกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มีความหมายว่าในระยะสั้น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ แต่ถ้าในระยะยาว เราไม่ช่วยกันดูแล ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจก็จะบกพร่อง ดังนั้น ยังประเมินว่าระยะสั้นยังไม่มีอะไรที่น่าตระหนกตกใจ โดยมองว่าเศรษฐกิจปี 56 น่าจะหย่อนกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 3% โดยการประชุมกนง.ครั้งนี้มองว่าน่าจะต่ำกว่า 3% ส่วนปี 57 มองเหลือใกล้เคียง 3% จากเดิมคาดไว้ 4%"นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ กนง.ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยในส่วนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจ G3 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้ต่อเนื่อง นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกของเอเชียเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียเหนือ
ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 56 คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจากอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 56 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการประชุมครั้งก่อน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองมีผลให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ด้านการส่งออก แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม แต่โดยรวมยังขยายตัวในอัตราต่ำ
นายประสาร กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้แบ่งเป็น 3 กรณีคือ 1.การเมืองคลี่คลายได้โดยสันติไม่เกิดความรุนแรง และสามารถแก้โจทย์ของประเทศได้ จะถือเป็นทางที่ดีที่สุด 2.หากสถานการณ์เกิดความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขโจทย์ของประเทศได้ จะกระทบกับพื้นฐานเศรษฐกิจแน่นอน ถือเป็นกรณีทางเลวร้ายที่สุด และ 3. หากสถานการณ์ยืดเยื้อไม่สามารถแก้ไขโจทย์ของประเทศได้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจของประเทศบกพร่อง ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น ความสามารถการแข่งขันของประเทศลดลง
"หวังว่าประเทศจะมีทางออกโดยสันติ และแก้ไขปัญหาได้โดยไม่เกิดความรุนแรงก็จะดีที่สุด ส่วนการทบทวนอันดับเครดิตประเทศของสถาบันต่างๆ นั้น ทุกฝ่ายก็ประเมินอยู่และมองปัจจัยไม่ต่างกัน โดยดูที่พื้นฐานเศรษฐกิจและภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ คิดว่าไทยน่าจะรับปัญหานี้ได้ในระยะหนึ่ง แต่ทุกสำนักก็เตือนว่าถ้าเรื้อรังและยืดเยื้อนานเกินไปก็จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"นายประสาร กล่าว