อย่างไรก็ดี กว่าที่ผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผ่านถึงการลดต้นทุนของผู้ผลิตและการลดภาระของผู้บริโภค โดยปกติจะกินระยะเวลาพอสมควร จึงคาดว่าจะมีผลให้เศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ไม่สดใสนัก
“เศรษฐกิจไทยในปี 57 ดูจะอ่อนแอต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ดูจะมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ตาม และจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งตลาดทุนและตลาดการเงินที่ผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้น โดยสำนักวิจัยประเมิน GDP ไทยปีนี้ว่าจะเติบโตได้ราว 3.4% แต่มีโอกาสโตได้ไม่ถึง 2% ในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนจะเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากความเชื่อมั่นที่จะกลับมาหลังปัญหาต่างๆ คลี่คลายลง" นายอมรเทพ กล่าว
ด้านค่าเงินบาทจะเผชิญความผันผวนสูงขึ้นจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตามการลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อสภาวะทางการเมืองไทย โดยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าสู่ระดับ 33.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ปลายไตรมาสแรก ก่อนจะปรับแข็งค่าตามการส่งออกที่ดีขึ้น ขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มอ่อนแอ อันจะลดแรงกดดันเงินบาท ค่าเงินบาทคาดว่าจะแตะระดับ 32.75 บาท/เหรียญสหรัฐ ช่วงปลายปี