ธปท.ห่วงหากการเมืองรุนแรง-ยืดเยื้อ ส่งผลให้ GDP ปีนี้อาจโตไม่ถึง 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 24, 2014 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่วนแรกจะส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจ และส่วนที่สองจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ทำให้อาจะต้องชะลอการลงทุนออกไป ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายได้จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณในปี 58 ที่จะต้องล่าช้าออกไปด้วย ไม่ว่าจะใครจะมาเป็นรัฐบาล

การลงทุนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ถือเป็นการใช้จ่ายที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นภาคเอกชน หากความเชื่อมั่นภาคเอกชนไม่เข้มแข็งมากนัก ก็จะกระทบให้โครงการลงทุนภาคเอกชนต้องเลื่อนออกไป แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ชัดเจนมากขึ้น แต่จะเข้มแข็งมากเพียงใด ต้องขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองและการเบิกจ่าย การลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

"กนง.ได้ประเมินว่า ปี 57 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4% ลงมาที่ระดับใกล้เคียงกับ 3% และสุดท้ายอาจเป็นไปได้ที่จะต่ำกว่า 3% ถ้าสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อหรือมีความรุนแรง ประกอบกับการส่งออกชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ภาคธุรกิจมีการฟื้นตัวเข้มแข็งมากขึ้น เป็นอานิสงค์ให้ภาคธุรกิจไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในหมวดของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด" โฆษก ธปท.กล่าว

นางรุ่ง กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 58 ที่อาจจะล่าช้าออกไปนั้น คาดว่าจะมีการเร่งใช้จ่ายในช่วงท้ายปี แต่ต้องยอมรับว่าคงเบิกจ่ายได้น้อย เมื่อเทียบกับในช่วงภาวะปกติ และต้องยอมรับว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ในแง่การใช้จ่ายภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คงต้องมีความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส เพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และอาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้ามากขึ้น

ส่วนภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีเสถียรภาพ โดยตั้งแต่ต้นปี 57 มีเงินทุนไหลออกเพียงเล็กน้อย ส่วนอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท และตลาดเงิน เคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ แม้ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงมาก โดย ธปท.มองว่าการที่เงินทุนไหลออกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จึงลดการทำ QE ลง อันเป็นตัวผลักดันให้มีเงินทุนไหลออก

สำหรับปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายไตรมาส 1/56 พบว่า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.8 พันล้านเหรียญ แบ่งเป็น ตลาดบอนด์ไหลเข้า 5.1 พันล้านเหรียญ ตลาดหุ้น 0.7 พันล้านเหรียญ ส่วนไตรมาส 2/56 เงินไหลออกสุทธิ 4.2 พันล้านเหรียญ แบ่งเป็น ตลาดบอนด์ไหลออก 2.4 พันล้านเหรียญ ตลาดหุ้นไหลออก 1.8 พันล้านเหรียญ ไตรมาส 3/56 เงินไหลออกสุทธิ 0.6 พันล้านเหรียญ แบ่งเป็น ตลาดบอนด์ 0 และตลาดหุ้นไหลออก 0.6 พันล้านเหรียญ ส่วนไตรมาส 4/56 (เฉพาะต.ค.-พ.ย.) เงินไหลออก 2.8 พันล้านเหรียญ แบ่งเป็น ตลาดบอนด์ไหลออก 1.1 พันล้านเหรียญ และตลาดหุ้นไหลออก 1.7 พันล้านเหรียญ

โดยในระยะหลัง เงินไหลออกไม่มากนัก เพราะก่อนหน้านี้มีเงินไหลออกไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งปัจจุบันต่างชาติยังคงถือพันธบัตรของไทยอยู่ 10%

สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นยังเป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าในระดับปานกลาง เนื่องจากปัจจัยหลักคือ การลดขนาด QE ของสหรัฐฯ ที่ผลักดันให้มีเงินทุนไหลออก ประกอบกับส่วนหนึ่งมีการชุมนุมภายในประเทศ แต่คงไม่สามารถแยกแยะได้ว่าการที่เงินไหลออกไปเป็นเพราะส่วนใด ในปริมาณเท่าใด แต่ยืนยันว่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้น ในปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 56 โดยถือว่ายังใกล้เคียงกับระดับเดิม แม้ว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ประกอบกับการส่งผ่านจากราคาพลังงานที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ก็ถูกชดเชยด้วยอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของภาคเอกชนไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก และมองว่าเงินเฟ้ออาจลดลงเล็กน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ