วันนี้เงินบาทมีแนวโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่า จากปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ ซึ่งหลังจากเกิดความรุนแรงในช่วงวันเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเฉพาะเงินเยน
"วันนี้บาทคงแกว่งๆ แต่มองไปในทางที่อ่อนค่า จากปัจจัยการเมือง เพราะเงินยูโรยังทรงตัว ขณะที่เยนค่อนข้างแข็งค่า" นักบริหารเงินกล่าว
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามในช่วงนี้ คือ การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในวันที่ 28-29 ม.ค.นี้ ซึ่งหาก FOMC ปรับลด QE ลงก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และบาทน่าจะยังอ่อนค่าต่อไป
นักบริหารเงิน คาดว่าเงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.82-33.00 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.25/28 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3681/3683 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 32.8660 บาท/ดอลลาร์
- สัปดาห์นี้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศรส.) จะเริ่มทยอยเจรจากับแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขอคืนพื้นที่ส่วนราชการแต่ละแห่ง ขณะที่ต้องติดตามการประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับนายกรัฐมนตรีว่าท้ายสุดแล้วจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจาก 2 ก.พ.นี้หรือไม่
- ฟิทช์ เรทติ้งส์ ชี้สถานการณ์การเมืองที่ส่อแววยืดเยื้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และอาจกระทบความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร ทั้งธนาคารเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้น จากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงในส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้ว ส่วนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ช่วยแก้ปัญหา
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อยู่ระหว่างติดตามดูว่าการชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบมากกว่าเอสเอ็มอีที่อยู่ตามต่างจังหวัด แต่ขณะนี้ยังพอที่จะประคองตัวไปได้ และธนาคารพาณิชย์ก็พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ให้พอไปได้ แต่ทุกฝ่ายเป็นห่วงว่าถ้าการชุมนุมลากยาวไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ไหวก็ได้
- "วายแอลจี" ประเมินราคาทองคำยังเคลื่อนไหวตามผลการประชุมเฟด ชี้หากคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม จะเป็นบวก แต่หากมีการชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงินลงอีกจะกระตุ้นราคาทองอ่อนตัว
- กระทรวงการคลัง คาดสัปดาห์นี้รู้ผลกฤษฎีกาไฟเขียวกู้ 1.3 แสนล้านบาทหรือไม่
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (24 ม.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด โดยมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอีก
- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วงลง 1.4% สู่ระดับ 135.77 จุด เมื่อเวลา 09.25 น.ตามเวลาโตเกียว เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 100 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 11,850 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ โดยราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,281.84 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 10.81 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.761 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันนี้
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังได้รับปัจจัยลบจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดขนาด QE ลงอีก
โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ.ที่ตลาด NYMEX ปรับตัวลง 68 เซนต์ ปิดที่ 96.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ ปิดที่ 107.88 ดอลลาร์/บาร์เรล