แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้เกษตรกรจะมีการปลูกพืชฤดแล้งเกินแผนที่กำหนดไว้ โดยข้าวนาปรังในเขตชลประทานปัจจุบันมีการปลูกจริงถึง 5.32 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 183% จากแผนที่กำหนดไว้ 2.9 ล้านไร่ ขณะที่นาปรังนอกเขตชลประทาน มีการปลูกจริง 2.35 ล้านไร่ จากแผนกำหนดไว้ที่ 1.84 ล้านไร่ ทางกรมชลประทานยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ และเกิดผลกระทบกับเกษตรกรให้น้อยที่สุดจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวในสิ้นเดือนมกราคมนี้
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังมีความกังวลว่าจะมีเกษตรกรทำนาปรังรอบสองต่อเนื่องนั้น จะส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เนื่องจากกรมชลประทานได้มีการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแล้วว่าไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างแน่นอน เพราะต้องมีการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อเตรียมใช้ในฤดูเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหากเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง
นายยุคล กล่าวถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษจตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูแล้งซึ่งในปีนี้ถือว่าเป็นแล้งปกติว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าวได้เตรียมแผนรองรับให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัดสามารถมีรายได้ในช่วงที่ไม่มีน้ำ โดยจัดให้มีโครงการฝึกอบรมอาชีพ หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชอายุสั้นทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยเตรียมของบกลางช่วยเหลือจำนวน 45 ล้านบาท เกษตรกรจำนวน 21,000 ราย
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ในลุ่มเจ้าพระยาในปีนี้ถือว่าต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือภาคเกษตรเท่านั้น แต่ต้องคำนวณปริมาณน้ำให้เพียงพอเพื่อไม่ให้กระทบถึงระบบนิเวศน์ การอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม และใช้เพื่อการผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง ที่อาจจะส่งผลกระทบถึงการทำน้ำปะปาด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งให้ทางรัฐบาลทราบ เพราะหากเกษตรกรจะมีการทำนาปรังรอบสองนั้นกรมชลประทานไม่มีน้ำสนับสนุนแน่นอน