หอการค้าฯเผยการเมืองยืดเยื้อกระทบ SME-ฉุดส่งออก-GDP ปีนี้โตต่ำกว่าเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 28, 2014 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) โดยสำรวจ 13 ธุรกิจภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จำนวน 2,000 ราย ระหว่างเดือน ธ.ค.56-ม.ค.57 พบว่า ผู้ประกอบการ 30% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองแล้ว โดยในจำนวนนี้ 95% ระบุลูกค้าลดคำสั่งซื้อและไปซื้อจากประเทศคู่แข่งแทน เพราะเกรงว่าผู้ประกอบการไทยจะส่งสินค้าให้ไม่ได้ หรือไม่ทันกำหนด และอีก 5% มีปัญหาในขั้นตอนการดำเนินการเอกสารกับหน่วยราชการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบมากสุด ซึ่งปัจจุบันไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีราว 2.7 ล้านราย

ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 70% ระบุยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง โดยในจำนวนนี้ 64% ระบุว่าลูกค้ายังเชื่อมั่นต่อธุรกิจและการสั่งซื้อยังปกติ, 24% ระบุกระบวนการส่งออกยังไม่ได้รับผลกระทบจากหน่วยงานที่ยังเปิดบริการได้ และอีก 13% ระบุการผลิตและส่งออกยังเป็นปกติ เพราะไม่อยู่ในจังหวัดที่มีการชุมนุมประท้วง

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการเมืองยังยืดเยื้อและรุนแรงถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ อาจทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือเพียง 3.8% จากเป้าหมายที่คาดปีนี้ขยายตัว 5% และยังทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจขยายตัวลดลงเหลือ 3% จากเป้าหมายที่คาดขยายตัวได้ 4-5% รวมถึงยังอาจทำให้การกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ ที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในเออีซีต้องถูกเลื่อนออกไป และกระทบต่อการลงนามกรอบความตกลงในการเปิดเสรีการค้าต่างๆ ได้

"ปัญหาการเมืองทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในอาเซียนลดลง โดยจากปี 55 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในอาเซียนเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ในปี 56 ตกมาอยู่ที่อันดับ 5 โดยเวียดนามและอินโดนีเซียแซงหน้า แต่ในปี 57 หากปัญหาการเมืองยังไม่ยุติ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จนถึงกลางปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้มากที่อาจตกลงมาอยู่อันดับ 6 ได้ โดยมีฟิลิปปินส์แซงหน้า แต่หลังจากนั้นไม่น่าตกลงมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะที่เหลือเป็นประเทศในอินโดจีน อย่างลาว กัมพูชา และพม่า" นายอัทธ์ กล่าว

ส่วนการสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซีนั้น พบว่า ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น โดยธุรกิจใหญ่เข้าใจเกือบหมด แต่เอสเอ็มอี 39% ยังไม่เข้าใจว่าจะปรับตัว และใช้ประโยชน์จากเออีซีอย่างไร รวมถึงยังไม่เข้าใจเพราะขาดความชัดเจนในการประชาสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์น้อย ขณะทีเอสเอ็มอีอีก 46% ยังไม่พร้อมจะแข่งขันในเออีซี หรือประมาณ 1.3 ล้านราย โดยธุรกิจที่ไม่พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในเออีซีมากสุดคือเกษตร อาหาร และสิ่งทอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ