(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ธ.ค.โต 1.87%-นำเข้าหด 9.90%,ปี 56 ส่งออกติดลบ 0.31%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 31, 2014 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.56 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.87% ที่มูลค่า 18,439.7 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าลดลง 9.90% ที่มูลค่า 18,724.7 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค.56 ขาดดุลการค้า 285 ล้านดอลลาร์
"การส่งออกในเดือนธันวาคม 56 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน... การนำเข้าลดลง 9.90% โดยลดลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักร อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าฯและผลิตภัณฑ์ รถยนต์นั่ง" นางศรีรัตน์ กล่าว

ขณะที่การส่งออกในปี 56 ขยายตัวลดลง 0.31% ที่มูลค่า 228,529.8 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 0.29% ที่มูลค่า 250,722.6 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปีขาดดุลการค้าอยู่ 22,192.8 ล้านดอลลาร์

โดยภาวะการค้าในเดือน ธ.ค.56 สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมขยายตัว 4.9% โดยข้าว(+21.2%) ยางพารา(+18.6%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(+4.6%) ส่วนกุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-35.1%) น้ำตาล(-30%) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพรวมลดลง 1.6% โดยยานยนต์และส่วนประกอบ(-12%) วัสดุก่อสร้าง(-40.5%) ส่วนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่มขึ้น 5.8, 3.4 และ 8.4% ตามลำดับ

ส่วนภาวะการค้าในปี 56 สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมลดลง 4.9% โดยข้าว(-4.6%) ยางพารา(-5.9%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-28.3%) น้ำตาล(-27.6%) ส่วนผักและผลไม้(+5.4%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(+0.6%) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพรวมลดลง 0.2% โดยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์(-1%) วัสดุก่อสร้าง(-6.7%) อัญมณีและเครื่องประดับ(-23.3%) สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า(+0.9%) ยานยนต์และส่วนประกอบ(+7.1%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+5.4%) สิ่งทอ(+3.6%)

ภาวะการส่งออกของสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวในภาพรวมทั้งปีมีปริมาณข้าวในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นจากสต็อกข้าวของเวียดนามและอินเดีย และการแข่งขันด้านราคารุนแรงจากทั้ง 2 ประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยลดลง แต่ในเดือน ธ.ค.การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากไนจีเรียซึ่งเป็นผู้นำเข้าสำคัญของไทยได้ทบทวนอัตราภาษีนำเข้าข้าวใหม่ โดยได้ปรับลดราคาอ้างอิงกลาง ทำให้ราคานำเข้าข้าวไทยปรับตัวลดลงจึงนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น ขณะที่จีนและสหรัฐฯ ยังนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยอย่างต่อเนื่อง

ยางพารามีการยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์(CESS) ชั่วคราวในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 56 ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนที่ต่ำลง แข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกยางพาราเดือนธันวาคมขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่การส่งออกในภาพรวมมีมูลค่าลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกมีสต็อกยางเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อและราคาส่งออกยาง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทางจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่มีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อลดมลภาวะมลพิษภายในประเทศ และตลาดส่งออกอื่นๆ มีอุปสงค์ขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นตลาดสิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์

กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปประสบปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งราคาปรับตัวสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่งในทุกตลาด อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และกลุ่มตลาดอื่นๆ

น้ำตาลได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่มีปริมาณมาก ส่งผลให้ทั้งราคาและปริมาณการส่งออกของไทยลดลงในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และกัมพูชา

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน ธ.ค.ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวได้ดีในตลาดเนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าหน่วยความจำประเภท Cloud ยังคงขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ และฮ่องกง แต่ภาพรวมทั้งปี ขยายตัวลดลง เนื่องมาจากอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ เนื่องมาจากการขยายตัวของสังคมเมืองในหลายประเทศ และมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์นั่งชะลอตัวลงในตลาดสำคัญ คือ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ทั้งนี้ชิ้นส่วนยานยนต์ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่นมาเลเซีย และสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่ดีจากการที่บริษัทจากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โดยในเดือน ธ.ค.56 ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ตลาดดั้งเดิมขยายตัว 2.1% โดยสหรัฐอเมริกา และ EU(15) ขยายตัว 3.9 และ 5.8% ตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่นหดตัว 2.8% ตลาดศักยภาพสูงขยายตัว 5.5% โดยอาเซียน(9) และจีน ขยายตัว 3.4 และ 16.1% ตามลำดับ ส่วนตลาดฮ่องกง อินเดีย หดตัว 5.1 และ 5.8% ตลาดส่งออกที่ชะลอตัว ได้แก่ ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัว 4.7% โดยทวีปออสเตรเลีย(-8.6%) ตะวันออกกลาง(-4.5%) ลาตินอเมริกา(-9.7%)

ส่วนทั้งปี 56 การส่งออกขยายตัวทั้งในตลาดศักยภาพสูง(+2.4%) และตลาดศักยภาพระดับรอง(+1.6%) โดยอาเซียน(9) (+5%) จีน(+1.4%) ฮ่องกง(+0.7%) ทวีปออสเตรเลีย(+5.6%) ตะวันออกกลาง(+0.5%) ลาตินอเมริกา(+2.9%) EU(12)(+2.4%) รัสเซียและ CIS(+1.4%) แม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในตลาดดั้งเดิม(-0.8%) อย่าง ญี่ปุ่น(-5.2%) แต่สหรัฐอเมริกา และ EU(15) ขยายตัว 0.8 และ 2.7% ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกในตลาดต่างๆ ได้แก่ ตลาดสหภาพยุโรป ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ(Economic Sentiment Indicator:ESI) ในเดือน ธ.ค.ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ 3 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ คือ สเปน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ทำให้การนำเข้าสินค้าไทยขยายตัวได้ดีในประเทศดังกล่าว รวมทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

สหรัฐอเมริกา ความวิตกกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) จะชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงต้นปี 2557 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ และการลงทุนในภาคธุรกิจ ทำให้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนต่างๆ ได้รับผลกระทบ

จีน การกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะยางพารา เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการขยาย การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการเริ่มเติบโตของความเป็นเมือง ทำให้ความต้องการไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อการก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวขึ้น

ญี่ปุ่น การอ่อนค่าของเงินเยน และภาคการส่งออกของญี่ปุ่นที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทย สหรัฐฯ จีน และยูโรโซน ลดลง

อินเดีย ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจตกต่ำ การลงทุนที่ซบเซา ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลง ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง

ทวีปแอฟริกา การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีในสินค้าประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าอุปโภคบริโภค(ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว) และเคมีภัณฑ์

ขณะที่ภาวะการนำเข้าในปี 56 เกิดภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย(+0.3%) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง(+9%) หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป(+0.3%) หมวดอุปโภค/บริโภค(+5.2%) ในขณะที่หมวดทุน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ลดลง 5.6 และ 6.4% ตามลำดับ

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.7% โดยเอเชียยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มที่สดและแข็งแกร่ง แต่อยู่ในท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ขณะที่สหรัฐฯ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยมาตรการ QE เป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนกลุ่มประเทศยูโรโซนฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ จีนยังคงนโยบายรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากับปีที่ผ่านมา(7-7.5%) เน้นการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศ ญี่ปุ่นเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว การประกาศเพิ่ม VAT จาก 5% เป็น 8% เริ่ม 1 เม.ย.57 ส่งผลทางจิดวิทยาต่อผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ