ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกไทยปี 57 ขยายตัว 5%ตามสัญญาณบวกเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 31, 2014 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออกของไทยปี 57 จะมีอัตราการเติบโตกลับมายืนในแดนบวกได้จากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก อาทิ สหรัฐญี่ปุ่น และสภาพยุโรป จะเป็นแรงสนับสนุนหลักในการพลิกฟื้นภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมภาวะการค้าระหว่างไทยและคู่ค้าในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียน และเอเชียตะวันออก ให้ได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ ข้อจำกัดสินค้าเกษตรที่เบาบางลง ทั้งปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่เริ่มคลี่คลาย การยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดของญี่ปุ่น ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทยอยปรับลดลง และความต้องการยางพาราที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าหากเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 56

ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกในปี 57 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่จังหวะการฟื้นตัวจะปรากฏภาพชัดเจนเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดใหม่ ที่อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีต่อไปอย่างใกล้ชิด

ล่าสุด แม้ว่าส่งออกของไทยในเดือนสุดท้ายของปี 56 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ จะสามารถพลิกกลับมายืนในแดนขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 (YoY) แต่มูลค่าส่งออกในเดือนธ.ค.56 ที่ปรับลดลงจากเดือนพ.ย.ราวร้อยละ 1.7 (MoM) มาอยู่ที่ระดับ 18,440 ล้านดอลลาร์ฯ ก็ย้ำภาพความล่าช้าของการฟื้นตัวที่มีมาตลอดทั้งปี และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในปี 56 หดตัวลงร้อยละ 0.3 ด้วยมูลค่า 228,529.8 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 4.9 นำโดย กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป (หดตัวร้อยละ 28.3) น้ำตาล (หดตัวร้อยละ 27.6) ยางพารา (หดตัวร้อยละ 5.9) และข้าว (หดตัวร้อยละ 4.6) ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.2 นำโดย อัญมณี/เครื่องประดับ (หดตัวร้อยละ 23.3) วัสดุก่อสร้าง (หดตัวร้อยละ 6.7) และอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 1.0) ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์/ส่วนประกอบ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ยังขยายตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/57 น่าจะยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 2.0 (YoY) จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ทิศทางของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ทยอยกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 และน่าจะประคองทิศทางไว้ได้ต่อเนื่องในปีนี้ อาจช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 57 มีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 3.0-7.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) แม้ว่าจะยังคงต้องติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ