แหล่งข่าวเผย สบน.ตั้งข้อสังเกตกู้เงินจ่ายจำนำข้าวมีโอกาสถูกวินิจฉัยขัดรธน.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 31, 2014 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจ่าวจากสำนักบริหารหนี้(กบน.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่กระทรวงการคลังจะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ประมูลข้อเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวนั้น สบน.ได้มีหนังสือถึงรมว.คลังเพื่อให้ข้อสังเกตว่าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 21 ม.ค.57 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(นาปี) ปีการผลิต 56/57 อาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไปได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

อย่างไรก็ตาม สบน.ตระหนักดีว่ากระทรวงการคลังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 และ วันที่ 21 ม.ค.57 ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณษทบทวน หรือสั่งการยืนยันให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไป จึงขอให้ รมว.คลังพิจารณาทบทวนหรือสั่งการยืนยันต่อไป

ทั้งนี้ สบน.ระบุว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 56/57 กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการและให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าวก่อนที่มีพ.ร.ฎ.ยุบสภาฯและในส่วนของการค้ำประกับเงินกู้ของโครงการดังกล่าว ครม.มีมติอนุมัติภายหลังจากที่ได้มีการยุบสภาฯแล้ว

แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 56/57 ได้ก่อให้เกิดหนี้ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ครม.ได้เคยอนุมัติไว้แล้วก่อนมีการตรา พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ดังนั้น การที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.57 อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันวงเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลตามโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนการยุบสภา จึงไม่ถือเป็นการกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงินโดยการปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินกู้มาเพิ่มให้แก่ ธ.ก.ส.สำหรับนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของครม.หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติธรรมนูญอันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ